การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เร่งกระบวนการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ(CPO)2 แสนตัน ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2562 ยืนยันใช้เงินรายได้ที่ส่งคืนรัฐมาดำเนินการ ด้านคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ชี้หากมติ ครม.ไม่ระบุให้ผลักภาระมาที่ค่าไฟฟ้า ทาง กฟผ.ต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่ายเอง ไม่สามารถรวมเป็นค่าไฟฟ้าได้.
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) สำหรับนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง โดยจะเร่งเปิดรับซื้อ CPO ภายในเดือน พ.ค. 2562 นี้ตามมติ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่กำหนดให้รับซื้อล็อตแรก 1 แสนตันในเดือน พ.ค.2562 และในเดือนมิ.ย. 2562 อีก 1 แสนตัน
นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการประเมินว่า กฟผ.จะต้องใช้เงินเท่าไหร่สำหรับดำเนินโครงการดังกล่าว เบื้องต้นจะใช้เงินในส่วนของ “เงินรายได้ที่ส่งคืนรัฐ” ที่กฟผ. จะต้องส่งคืนรัฐตามกฎระเบียบกระทรวงการคลังทุกปี ส่วนจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(FT)ของประชาชนหรือไม่นั้น เบื้องต้น กฟผ.ยังไม่มีข้อมูล โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาตามนโยบายรัฐและรายละเอียดในมติ ครม.ที่ผ่านมาว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทางภาครัฐจะกำหนดให้ไปรวมอยู่ในค่า FTหรือไม่ ถ้าให้รวมเป็นค่า FT จริง ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ต้องดำเนินการพิจารณาต่อไป
น.ส. นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า กกพ. กำลังอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดของมติ ครม. กรณีให้ กฟผ.รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบมาผลิตไฟฟ้าอีก 2 แสนตัน ว่าจะส่งผลกระทบต่อค่า FT หรือไม่ หากมติ ครม.ไม่ได้ระบุให้สะท้อนมาที่ค่า FT ทาง กฟผ.จะต้องหาวิธีจัดการกับรายจ่ายดังกล่าวเอง โดยไม่สามารถสะท้อนเป็นค่า FT ได้ แต่หากมติ ครม.กำหนดให้สะท้อนเป็นค่า FT จริง กกพ.จะหารือกันว่าจะรวมในค่า FT งวดไหนต่อไป ดังนั้นขอศึกษาในรายละเอียดมติ ครม.ก่อน
นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบอีก 2 แสนตัน สำหรับนำไปผลิตไฟฟ้า เพื่อช่วยดูดซับส่วนเกินน้ำมันปาล์มในตลาดนั้น เห็นว่าเป็นมาตรการระยะสั้นที่อาจช่วยกระตุ้นกลไกราคาปาล์มได้ แต่จะไม่ยั่งยืน และจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(FT)บ้าง
เนื่องจากครั้งนี้เป็นการใช้เงินของ กฟผ.มาดำเนินการโดยตรง รัฐไม่ได้นำเงินมาสนับสนุนเหมือนครั้งแรก
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาภาครัฐประกาศออกมาว่าจะกระทบค่า FT ไม่ถึง 1 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้นประชาชนคงไม่เดือดร้อนมากนัก แต่เห็นว่าในระยะยาวภาครัฐจะต้องปรับสมดุลปาล์มทั้งระบบ เพื่อให้ความต้องการใช้กับการผลิตสอดคล้องกัน ไม่เกิดปัญหาขาดแคลนหรือล้นตลาดเหมือนที่ผ่านมา เพื่อให้ราคาปาล์มมีเสถียรภาพมากขึ้น
สำหรับครั้งแรกที่รัฐกำหนดให้ กฟผ.เข้าไปซื้อน้ำมันปาล์มดิบเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า 1.6 แสนตัน โดยหวังว่าจะดึงราคาทลายปาล์มให้ปรับสูงเกิน 3 บาทต่อกิโลกรัมนั้น แต่ปรากฏว่าราคาโดยรวมปรับสูงขึ้นไม่มากนักและยังไม่ถึง 3 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนตัวเห็นว่าเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ 1.ปริมาณรับซื้อ 1.6 แสนตัน ยังไม่มากพอที่จะกระตุ้นการใช้ จนถึงขนาดดึงราคาทั้งระบบให้สูงขึ้นได้
และ2.ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกตกต่ำมาโดยตลอด ทำให้ราคาในประเทศไม่ขยับขึ้นด้วยเช่นกัน
สำหรับมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2562 มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบต่อเนื่องจำนวน 2 แสนตันเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ณ โรงไฟฟ้าบางปะกง จากที่โครงการดังกล่าวเคยรับซื้อไปแล้วจำนวน 1.6 แสนตัน และส่งมอบงวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2562 โดยการรับซื้อในครั้งนี้ จะมีการส่งมอบ ณ คลังน้ำมันปาล์มดิบ จังหวัดสุราษฏร์ธานี ปริมาณ หนึ่งแสนตันแรกภายในเดือนพ.ค.2562
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2562 ว่า “ในส่วนของการซื้อน้ำมันปาล์มดิบไปใช้ผลิตไฟฟ้า แม้ว่าโรงไฟฟ้าบางปะกงจะสามารถผลิตไฟฟ้าโดยใช้น้ำมันปาล์มได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ แต่ราคาปาล์มที่เราพยายามจะดึงราคาตลาดคงที่ระดับสูงที่ 16 บาท/กก. จะส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงกลับสูงกว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านบาทสำหรับการใช้น้ำมันปาล์มดิบ 2 แสนตัน ดังนั้น ครม.จึงมอบหมายให้ กฟผ.ดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลังที่จะนำส่วนเกิน 1,200 ล้านบาทในส่วนที่คลังทำข้อตกลงเป็นPublic Service ส่งผลให้ไม่กระทบกับค่าไฟฟ้า ค่าไฟฟ้าจะเท่าเดิม ไม่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่กระทบค่าสวัสดิการ ค่าโบนัสของพนักงาน กฟผ.”