กฟผ.เตรียมพร่องน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ผ่าน Spillway ช่วง23-27ส.ค.นี้รับมือพายุโซนร้อนเบบินคา

458
- Advertisment-

กฟผ.แจ้งเตรียม พร่องน้ำ เขื่อนวชิราลงกรณ  ผ่านประตูระบายน้ำล้น (Spillway) วันละ 10 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มเติมจากช่องทางปกติ ระหว่างวันที่ 23 – 27 สิงหาคม 2561 เพื่อรองรับน้ำตลอดช่วงฤดูฝนตามนโยบายศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต  หลังปริมาณน้ำในเขื่อนเกินกว่าเกณฑ์ควบคุมตอนบน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนเบบินคาและมรสุมกำลังแรง    พร้อมเตือนให้ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท้ายเขื่อนอย่างใกล้ชิด

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  เปิดเผยว่า ข้อมูล ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2561 เวลา 10.00 น เขื่อนวชิราลงกรณมีปริมาณน้ำในเขื่อน 7,896 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ ร้อยละ 89 ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์การควบคุมตอนบน (Upper Rule Curve) และมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำไม่ต่ำกว่าวันละ 100 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงและอิทธิพลของพายุโซนร้อนเบบินคาทำให้มีฝนตกหนาแน่นบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำตอนบนอย่างต่อเนื่อง เขื่อนวชิราลงกรณจึงจำเป็นต้องพร่องน้ำตามนโยบายของศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) โดยจะระบายน้ำผ่านช่องทางปกติ วันละ 43 ล้าน ลบ.ม. และระบายผ่านทางระบายน้ำล้น (Spillway) วันละ 10 ล้าน ลบ.ม. รวมเป็นวันละ 53 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 23 – 27 สิงหาคม 2561 ส่งผลให้ลำน้ำท้ายเขื่อนจะมีปริมาณมากขึ้น จึงขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท้ายเขื่อนอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ กฟผ. ได้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำของเขื่อนวชิราลงกรณอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเขื่อน กฟผ. ทั่วประเทศ ซึ่งแผนการระบายน้ำและการบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามนโยบายจากกรมชลประทานและคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ  คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแต่ละจังหวัด โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนเป็นสำคัญ และขอให้ประชาชนมั่นใจว่า เขื่อนของ กฟผ. ทุกแห่งยังคงมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยติดตามพฤติกรรมของเขื่อนตลอดเวลา อีกทั้งประชาชนยังสามารถติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดได้ทางเว็บไซต์ http://WATER.EGAT.CO.TH หรือ http://www.vrk.egat.com และแอพพลิเคชั่น EGAT Water ซึ่งสามารถดาวน์โหลดค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำได้อย่าง Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งสามารถติดตามภาพสถานการณ์น้ำในเขื่อนจริงผ่านกล้อง CCTV ของแต่ละเขื่อนได้อีกด้วย

- Advertisment -
Advertisment