กฟผ.ศึกษาซอฟต์แวร์ “EGAT Micro-EMS”รับมือพลังงานหมุนเวียนรูปแบบใหม่

1916
- Advertisment-

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควักงบ 50 ล้านบาท ศึกษาการพัฒนาซอฟต์แวร์ “EGAT Micro-EMS” สำหรับบริหารระบบไฟฟ้าแบบอัจฉริยะ รับมือพลังงานหมุนเวียนรูปแบบใหม่ทั้งโซลาร์ภาคประชาชน การซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบ Blockchain และ Peer-to-Peer คาดศึกษาเสร็จ 1-2 เดือนนี้ หวังต่อยอดเป็น platform ซื้อขายไฟฟ้าแห่งชาติ ช่วยสอดส่องภาพรวมการใช้ไฟฟ้าและรักษาความมั่นคงไฟฟ้าหลัก พร้อมวอนภาครัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในอนาคตเป็นรูปแบบเสถียร เพื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าประเทศ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เริ่มศึกษาการพัฒนาซอฟต์แวร์ “ระบบการจัดการพลังงาน EGAT Micro-Energy Management System (EGAT Micro-EMS)” เพื่อนำมาบริหารจัดการระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Microgrid) ที่กำลังได้รับความนิยมทั้งในรูปแบบโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาสำหรับภาคประชาชน หรือ โครงการโซลาร์ภาคประชาชน, การซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบการจัดการฐานข้อมูลอัจฉริยะ หรือ Blockchain และการซื้อขายไฟฟ้ากันเอง (Peer-to-Peer)

โดย กฟผ.เริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2561 โดยใช้งบเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของ กฟผ.ประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งทดลองระบบและซอฟแวร์ EMS ดังกล่าวกับ 2 อาคารของ กฟผ.สำนักงานใหญ่ บางกรวย ซึ่งคาดว่าจะศึกษาเสร็จใน 1-2 เดือนนี้ หรือประมาณเดือนมี.ค. 2562

- Advertisment -

ทั้งนี้ กฟผ.คาดว่าในอนาคตจะเกิดรูปแบบการผลิตและซื้อขายไฟฟ้ากันเองในชุมชนมากขึ้น โดยแต่ละชุมชนจะบริหารจัดการไฟฟ้าผ่านระบบบริหารจัดการไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ Microgrid แต่ยังมีการใช้ไฟฟ้าหลักของการไฟฟ้าอยู่ด้วย ดังนั้นถ้าระบบไฟฟ้าหลักของประเทศประสบปัญหา ชุมชนลักษณะดังกล่าวยังสามารถผลิตไฟฟ้าเลี้ยงตัวเองได้ โดยดีดตัวออกจากระบบไฟฟ้าหลัก แต่ถ้าทุกชุมชนทำเหมือนกันหมด ระบบไฟฟ้าหลักของประเทศจะอยู่ไม่ได้ ที่สำคัญหากมองไม่เห็นว่าชุมชนใดบ้างปลดไฟฟ้าออกจากระบบจะเกิดปัญหาไฟฟ้าดับแบบโดมินโน่ เพราะเข้าไปควบคุมแก้ปัญหาไม่ทัน

ดังนั้นระบบ EMS จะช่วยให้มองเห็นสถานการณ์ภาพรวมการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริง ทำให้สามารถควบคุมและวางแผนการผลิตและใช้ไฟฟ้าให้เกิดความมั่นคงต่อระบบไฟฟ้าได้ โดยหากผลการศึกษาประสบความสำเร็จ กฟผ. อาจผลักดันให้ภาครัฐนำไปต่อยอดเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานแห่งชาติ หรือ National Energy Trading Platform (NETP) ที่ขณะนี้ 3 การไฟฟ้า คือ กฟผ. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กำลังพัฒนาร่วมกันอยู่

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ภาครัฐส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น กฟผ.ไม่คัดค้านและพร้อมให้การสนับสนุน แต่อยากให้ภาครัฐกำหนดให้ไฟฟ้าที่ผลิตออกมาอยู่ในรูปแบบ การผลิตไฟฟ้าแบบเสถียร (Firm) ซึ่งช่วยให้ กฟผ.ดูแลระบบได้ง่าย

เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า แม้จะมีผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์)ใช้เองไม่ขายเข้าระบบ แต่ยังใช้ไฟฟ้าสำรอง(Backup)ของการไฟฟ้า รองรับกรณีที่ผลิตไฟฟ้าช่วงกลางคืนไม่ได้  ดังนั้น กฟผ.ต้องผลิตไฟฟ้าสำรองให้ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน  ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าหลักเพิ่มขึ้น รวมถึงการเร่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าขึ้นลงตามความต้องการใช้ในลักษณะดังกล่าวทำให้อายุการใช้งานเครื่องผลิตไฟฟ้าลดลง ค่าซ่อมแซมจะสูงขึ้น และต้นทุนดังกล่าวจะกลายเป็นภาระประชาชนโดยรวมอีก ดังนั้นต้องการให้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามาในระบบควรเป็นแบบเฟิร์ม แม้จะทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการสูงขึ้น แต่ระบบไฟฟ้าหลักเกิดความเสถียรและมั่นคงกว่า

Advertisment