กฟผ.ลงนามเอ็มโอยูฉบับที่2 กับตลาดหลักทรัพย์ฯ ศึกษาตลาดซื้อขายไฟฟ้าในระดับขายส่ง

1094
- Advertisment-

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จับมือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาการพัฒนาความพร้อมเพื่อรองรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าในระดับขายส่ง (Wholesale Electricity Market) ฉบับที่ 2  คาดคัดเลือกระบบดีที่สุดเสนอกระทรวงพลังงานภายใน 1 ปี หวังเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดหลักทรัพย์และทำให้ระบบไฟฟ้าของไทยเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น 

วันนี้ (29 กันยายน 2563) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาการพัฒนาความพร้อมเพื่อรองรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าในระดับขายส่ง ฉบับที่ 2 โดยมีนายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์ฯ และนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ.ที่จะเกษียณอายุในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เป็นผู้แทนการลงนาม ณ ห้องประชุม 201 กฟผ. สำนักงานกลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

ศรพล ตุลยะเสถียร (คนซ้าย )พัฒนา แสงศรีโรจน์ (คนขวา)

โดย นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การลงนามในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือต่อเนื่องจากที่ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนาม MOU ตลาดซื้อขายไฟฟ้าระดับขายส่งฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมาซึ่งครบ 1 ปีแล้ว

- Advertisment -

โดย กฟผ. และทาง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ (ตลท.) จะร่วมกันศึกษาจัดทำแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าระดับการขายส่งขึ้นมาในรูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยคาดว่าจะใช้เวลา 1 ปีในการศึกษาและนำผลที่ได้เสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณานำไปพัฒนาปรับใช้ต่อไป ซึ่งหากกระทรวงพลังงานเห็นชอบก็อาจมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปคัดเลือกพื้นที่นำร่องในประเทศไทยเพื่อทดลองใช้ระบบแพลตฟอร์มดังกล่าวได้

ทั้งนี้ จากการศึกษารูปแบบตลาดซื้อขายไฟฟ้าระดับขายส่งในต่างประเทศพบว่า มีหลากหลายรูปแบบ โดยหลักการส่วนใหญ่จะแบ่งเป็น 1. ตลาดซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งอาจมีผู้ใช้บริการหลายราย  2.ศูนย์ควบคุมระบบส่งจ่ายไฟฟ้า ที่อาจมี 1-2 ศูนย์ และ 3.มีการเชื่อมโยงระหว่างตลาดซื้อขายไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมฯดังกล่าว โดยการทำการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันมีหลายแบบ เช่น แบบวันต่อวัน หรือแบบซื้อขายล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ก็ได้ ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละประเทศ

สำหรับผลการศึกษาใน MOU ฉบับที่ 1 นั้น กฟผ.เห็นโอกาสในการจัดตั้งตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่มีรูปแบบคล้ายการซื้อขายไฟฟ้าในยุโรป โดยระยะแรก กฟผ.มีแผนจัดตั้งตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่ประกอบด้วย ตลาดซื้อขายไฟฟ้าล่วงหน้าหนึ่งวัน(Day-Ahead Market) และตลาดซื้อขายไฟฟ้าระหว่างวัน(Intraday Market) โดยที่กฟผ.จะเป็นผู้จัดทำกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า ขณะที่ตลท.จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการพัฒนาระบบการซื้อขาย เมื่อตลาดซื้อขายพลังงานไฟฟ้าทั้งสองมีเสถียรภาพและมีสภาพคล่องแล้ว อาจพิจารณาให้มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายกำลังการผลิตไฟฟ้า(Capacity Market) สำหรับจัดหากำลังผลิตล่วงหน้า และพัฒนาต่อเป็นสินค้าในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(TFFX)ในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตามในการพัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้าจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ โครงสร้างกิจการไฟฟ้า รวมถึงการกำหนดนโยบายร่วมกันในการพัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการนำผลการศึกษาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และกฟผ. ศึกษาร่วมกันในระยะเวลา 1 ปี มาพัฒนาต่อยอด โดยที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะได้ถ่ายทอดความรู้ด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ การส่งมอบ การชำระราคาหลักทรัพย์ และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจการซื้อขายหลักทรัพย์ร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (Intermediaries) ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่าความร่วมมือดังกล่าวเป็นโอกาสที่จะนำผลการศึกษาไปต่อยอดสู่การพัฒนาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนในอนาคต ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์สำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่พร้อมเติบโตด้วยการสร้างโอกาสใหม่ (Grow with New Opportunities) และด้วยศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต

สำหรับการขยายโครงการความร่วมมือนั้น คณะทำงานฯ ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับที่ 2 มีกรอบระยะเวลา 6 เดือน เพื่อศึกษาพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานของตลาดซื้อขายไฟฟ้าในเชิงลึกในแต่ละด้าน อาทิ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไฟฟ้าในอนาคต ระเบียบการซื้อขายในตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย บทบาทและความสำคัญของตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน (Exchange Market) และตลาดการเงิน (Financial Market) ในกิจการไฟฟ้าในอนาคต การแข่งขันในตลาดทุนเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการแข่งขันในตลาดซื้อขายไฟฟ้า เพื่อนำข้อมูลจากการศึกษามาใช้ประกอบการจัดตั้งตลาดซื้อขายไฟฟ้าในอนาคต รวมถึงการเสนอให้มีการศึกษาการเปิดเสรีกิจการไฟฟ้าในระดับขายปลีกเพิ่มเติม เพื่อหาข้อดี ข้อเสีย ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าทั้งในรูปแบบเดิม และรูปแบบการแข่งขันเสรีเต็มรูปแบบทั้งด้านผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง

Advertisment