กฟผ.ระดมสรรพกำลัง ช่วยคนไทยสู้วิกฤตอุทกภัยภาคเหนือ 

146
- Advertisment-

มหาอุทกภัยที่มีมวลน้ำหลากเข้าท่วมในหลายจังหวัดของภาคเหนืออย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สร้างความเสียหายแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมบาดแผลทางจิตใจที่ไม่อาจประเมินค่าได้ทั้งการสูญเสียคนในครอบครัว บ้านเรือนและทรัพย์สินที่หลายคนเพียรสร้างจากน้ำพักน้ำแรงที่หามาทั้งชีวิต แต่ท่ามกลางวิกฤตในคืนที่มืดมิดที่สุด เราได้เห็นน้ำใจของคนไทยที่รวมพลังเร่งนำความช่วยเหลือส่งตรงสู่ภาคเหนือแทนกำลังใจและคำปลอบโยนจากหัวใจคนไทยทั้งประเทศ

ผนึกกำลังพันธมิตร จิตอาสาเร่งกระจายความช่วยเหลือ

ทันทีที่มวลน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในหลายพื้นที่ จิตอาสาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างระดมกำลังช่วยกันบรรจุถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นกว่า 16,000 ชุด และน้ำดื่มกว่า 157,000 ขวด ส่งตรงไปยังพี่น้องผู้ประสบอุทกภัยในหลายจังหวัดทั้งเชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา ตาก

- Advertisment -

ส่วนในพื้นที่ประสบภัยที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือยังไม่สามารถกลับเข้าบ้านพักอาศัยได้ กฟผ. ได้นำแก๊สปิกนิก 1,200 ถัง แก๊สกระป๋อง 2,400 แพ็ค ชุดไฟนอนนาโซลาร์เซลล์ 110 ชุด เตาอังโล่ 100 เตา และอุปกรณ์จานชาม 1,200 ชุด มามอบให้แต่ละครอบครัวเพื่อใช้ยังชีพในช่วงที่น้ำยังไม่ลด

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน (ซ้าย) และ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. (ที่สองจากซ้าย) ลงพื้นที่มอบสิ่งของที่จำเป็นให้กับส่วนหนึ่งของผู้ประสบอุทกภัย

ระดมเครื่องจักรกลหนักกำจัดดินโคลน

เครื่องจักรกลขนาดใหญ่กว่า 15 คัน ทั้งรถตักหน้าขุดหลัง รถตักล้อยาง รถขุดล้อยาง รถบรรทุกเทท้ายขนาด 6 ล้อ และ 10 ล้อ รวมถึงรถบรรทุกน้ำพร้อมหัวฉีด ซึ่งระดมมาจากทั้งเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ สู่บ้านถ้ำผาจม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อร่วมภารกิจกำจัดภูเขาดินโคลนที่สูงกว่า 3 เมตร โดยนำความรู้และประสบการณ์การแก้ไขปัญหาดินสไลด์ น้ำขัง และการขุดขนดินภายในเหมืองแม่เมาะมาประยุกต์ใช้กับภารกิจนำดินโคลนออกจากถนนเทศบาล 21 ซึ่งเป็นถนนสายหลักตั้งแต่บ้านถ้ำผาจมจนถึงตลาดสายลมจอยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ระยะทาง 650 เมตร เพื่อเปิดทางให้หน่วยงานอื่น ๆ ได้นำรถขุดขนาดเล็กสำหรับขุดเอาดินโคลนออกจากบ้านเรือน ช่วยวางถุงบิ๊กแบ๊กเป็นพนังกั้นแม่น้ำสายตลอดแนวหมู่บ้านเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลทะลักเข้ามาในพื้นที่ และนำรถบรรทุกน้ำไปฉีดล้างทำความสะอาดคราบโคลนตามบ้านเรือนด้วยความหวังที่อยากให้พี่น้องชาวแม่สายกลับเข้าบ้านได้โดยเร็ว

“พอผมเห็นรถคันใหญ่ ๆ ของ กฟผ. ผมโคตรดีใจเลย เพราะศักยภาพของเทศบาลมีแค่รถแบคโฮคันเล็ก ๆ คันเดียว ทำได้แค่วันละไม่กี่เมตร ถ้าไม่มีรถตักหน้าขุดหลัง ไม่มีรถบรรทุกคันใหญ่ของ กฟผ. ที่ขนดินได้ทีละเยอะ ๆ ถนนไม่มีทางทะลุได้” เกรียงศักดิ์ อำพรไพ เจ้าของร้านคาเฟ่ริมน้ำสาย จ.เชียงราย

นอกจากทีมส่วนหน้าที่เร่งกระจายถุงยังชีพแล้ว โรงไฟฟ้าและเขื่อนของ กฟผ. ยังเตรียมพร้อมรถบรรทุกขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ถุงกระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น เข้าให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนที่ประสบอุทกภัยได้ทันทีเมื่อได้รับการประสานงาน

นำความเชี่ยวชาญฟื้นฟูระบบไฟฟ้าหลังน้ำลด

ส่วนพื้นที่ที่น้ำลดกลับสู่สภาวะปกติแล้ว ทีมจิตอาสา กฟผ. ในนามมูลนิธินายช่างไทยใจอาสา กว่า 70 คน ซึ่งเป็นทีมช่างที่มีความเชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าได้ลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบระบบไฟฟ้า ซ่อมแซมเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใน จ.น่าน และเชียงราย โดยพบว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งปลั๊กไฟ สวิตซ์ไฟ อยู่ในสภาพอันตราย ไม่ปลอดภัยต่อการใช้งาน

นายมานพ คงคล้าย หนึ่งในจิตอาสา กฟผ. ที่มาร่วมปฏิบัติภารกิจฟื้นฟูระบบไฟฟ้าหลังน้ำท่วมเป็นปีที่ 3 แล้ว เปิดเผยว่า ระบบไฟฟ้าในบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมส่วนใหญ่จะพบปัญหาปลั๊กไฟและสวิตซ์ไฟฟ้าที่แช่อยู่ในน้ำท่วมนานนับสัปดาห์จะชำรุดเสียหาย เต็มไปด้วยดินโคลนเข้าไปอุดตัน เป็นสนิม และบางจุดมีกระแสไฟฟ้ารั่ว ทีมช่างก็จะดำเนินการเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ใหม่ ทั้งเบรกเกอร์ สวิตซ์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ และหลอดไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย

ยายชูรี ทะพรมมินทร์ อายุ 77 ปี เล่าให้ฟังว่า ปีนี้บ้านของเธอที่บ้านดอนไชย อ.เวียงสา จ.น่าน ถูกน้ำท่วมแล้วถึง 4 ครั้ง ซึ่งความรุนแรงพอ ๆ กับปี 2554 แม้จะเคยชินกับปัญหาน้ำท่วมเพราะบ้านตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำน่าน เวลาที่น้ำมาก็มักจะท่วมเป็นหลังแรกและลดเป็นหลังสุดท้าย ทำให้ปลั๊กไฟถูกท่วมหมด พอน้ำลดก็ได้แต่รอให้แสงแดดส่อง เมื่อคิดว่าแห้งก็ใช้งานตามปกติ แต่เมื่อทีมช่าง กฟผ. เข้าตรวจสอบแล้วพบว่า ระบบไฟฟ้าภายในบ้านเสียหายเกือบทุกจุด ทีมช่าง กฟผ. จึงเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ใหม่

“ยายดีใจมาก ๆ ที่เขามาช่วยเหลือยาย อุ่นใจที่จะได้ใช้ไฟฟ้าที่ปลอดภัยและทำให้ฟรี เพราะก่อนหน้านี้ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรและกังวลเรื่องเงินด้วย”

ยายชูรี ทะพรมมินทร์

ไม่เพียงแต่ชาวบ้านที่กลับมามีรอยยิ้ม แต่ทุกหัวใจของทีมจิตอาสา กฟผ. ก็ต่างใจฟูที่ได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยครั้งนี้

“รู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมเป็นจิตอาสาในภารกิจครั้งนี้ อยากมาให้กำลังใจ และช่วยบรรเทาความเดือดร้อน โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้ามาทำให้พี่น้องประชาชนอุ่นใจ มั่นใจว่าระบบไฟฟ้าในบ้านเรือนจะมีความปลอดภัย”  ถิรวุฒิ เจียมเกตุ จิตอาสา กฟผ. กล่าวย้ำ

ไม่ว่าสถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้จะต้องใช้เวลาฟื้นฟูอีกนานเท่าใด กฟผ. ก็พร้อมจะอยู่เคียงข้างคนไทยและร่วมสนับสนุนการช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัยอย่างเต็มความสามารถ เราจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน กฟผ. เคียงข้างคนไทยทุกวิกฤต

Advertisment