กฟผ.พัฒนาโรงไฟฟ้าและสายส่งให้ยืดหยุ่นรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าระบบมากขึ้น

1811
- Advertisment-

กฟผ.ปรับตัวเน้นพัฒนาปรับปรุงโรงไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น สามารถสั่งเดินเครื่องตอบสนองความต้องการใช้ได้รวดเร็ว และมีเสถียรภาพ มากกว่าเดิมรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบมากขึ้นในอนาคตและการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงการปรับตัวเพื่อ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ทำให้รูปแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ  ว่า แนวโน้มในอนาคต การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์ จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวมีปริมาณมากพอที่จะเข้ามากวนระบบ  โดยผู้ที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า จะไม่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าบางส่วนจากระบบผลิตของการไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน เพราะสามารถที่จะผลิตไฟใช้ได้เอง  แต่จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาหัวค่ำ  ที่ระบบโซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ได้   ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ กฟผ.ที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟเพื่อป้อนความต้องการในส่วนนี้

อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าหลักในปัจจุบันที่มีอยู่ของกฟผ. ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ที่ต้องใช้เวลาในการเดินเครื่อง และไม่สามารถที่จะหรี่กำลังการผลิตลงได้ต่ำมากนัก  ตลอดจนไม่สามารถที่จะหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในข่วงเวลากลางวัน  ที่มีความต้องการน้อยลง  แล้วค่อยมาสั่งเดินเครื่องใหม่ ในช่วงหัวค่ำ ที่ความต้องการใช้ไฟกลับมามากขึ้นได้    ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าใหม้ ให้มีความยืดหยุ่นมากพอที่จะรองรับสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวได้

- Advertisment -

ทั้งนี้ตามร่างแผนพีดีพี 2018 ที่คำนึงถึงปัญหาที่เกิดจากไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน เข้ามาสู่ระบบมากขึ้นนั้น กฟผ.จะต้องพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ให้เป็นโรงไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่น หรือFlexible Power Plant  ที่สามารถจะสั่งเดินเครื่องได้รวดเร็ว ตามความต้องการและปรับการทำงานให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง  ควบคู่กับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้มีความเสถียรมากขึ้น เช่น โครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ซึ่งเป็นระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์กับน้ำในเขื่อน โดยจะนำร่องในเขื่อนสิรินธร จำนวน 45 เมกะวัตต์

โดยโครงการโซลาร์เซลล์ของกฟผ.จะช่วยผลิตไฟฟ้าเสริมพีคในช่วงกลางวัน ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำจะช่วยผลิตไฟฟ้าเสริมพีคในช่วงกลางคืน รวมถึงยังเป็นต้นแบบการศึกษาเรื่องความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้าจากความไม่เสถียรของพลังงานหมุนเวียนภายในระบบส่งไฟฟ้าด้วย

กฟผ.ยังต้องมีการปรับปรุงระบบสายส่งให้พร้อมรองรับพลังงานหมุนเวียน (Grid Modernization) ด้วย โดย กฟผ. ได้พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์ กำหนดแล้วเสร็จในปี 2563 ถือเป็นเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพื่อช่วยลดความผันผวนของพลังงานทดแทนและบริหารจัดการสายส่งให้สามารถนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการพัฒนาระบบการจัดการพลังงาน (EGAT Micro Energy Management System : EGAT Micro-EMS) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Micro grid) ช่วยมอนิเตอร์ในภาพรวมและรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลักไว้

นอกจากนี้ กฟผ.ยังต้องมีการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเพื่อเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid Connection) ในภูมิภาค โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมทางด้านเทคนิค กฎระเบียบ ภาษี และการพาณิชย์ เป็นต้น

Advertisment