กฟผ.พาสื่อมวลชนไทย เปิดโลกทัศน์ ดูต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ผสมผสานโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ (Hydro Floating Solar Hybrid System) ที่โปรตุเกส ซึ่งเป็นโครงการสาธิตที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการนำร่องที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี 45 เมกะวัตต์ ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จะช่วยสร้างความมั่นคงไฟฟ้าในภาคอีสานตอนใต้ได้ดีขึ้น
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 คณะศึกษาดูงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และสื่อมวลชนไทยจากหลายสำนัก เดินทางมาที่โครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ณ เขื่อน Alto Rabagao ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทพลังงานแห่งโปรตุเกส หรือ EDP (Energias de Portugal) โดยโครงการดังกล่าวถือเป็นต้นแบบ และจุดเริ่มต้นที่ทำให้ กฟผ.เกิดไอเดียและนำมาทดลองทำที่เขื่อนผลิตไฟฟ้าของกฟผ. โดยนำร่องที่ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกบริษัทผู้รับงานวิศวกรรม-จัดหา-ก่อสร้าง (Engineering-Procurement-Construction-EPC) ที่หากสำเร็จจะเป็นโครงการโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ ขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในขณะนี้
ความน่าสนใจที่ทางคณะดูงานของกฟผ.ได้รับฟังการบรรยายจากทีมบริหารของ EDP Renewable คือการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใช้แหล่งพลังงานมากกว่า 2 ประเภทขึ้นไป หรือที่เรียกว่า ระบบ Hybrid System โดยโครงการทดลองของ EDPที่เขื่อน Alto Rabagao มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ จำนวน 840 แผง กำลังผลิต 220 กิโลวัตต์ ผสมผสานกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของตัวเขื่อนเองที่มีกำลังผลิต 72 เมกะวัตต์ (เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ 36 เมกะวัตต์) นอกจากนี้ยังมีเครื่องแปลงไฟระบบกระแสไฟฟ้าตรงเป็นกระแสไฟฟ้าสลับ (Inverter) อีกจำนวน 4 ชุด
การผลิตไฟฟ้าทั้งจากแผงโซลาร์เซลล์ และพลังน้ำจากเขื่อน ดังกล่าว จะใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่แล้วร่วมกัน เช่น สายส่งไฟฟ้า สถานีไฟฟ้าแรงสูง รวมถึงอุปกรณ์ในสถานีไฟฟ้าฯ ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า อุปกรณ์ตัดตอนไฟฟ้าแรงสูง ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยลดต่ำลงได้ และมีจำนวนชั่วโมงการผลิตไฟฟ้าที่ยาวนานขึ้น เพราะในช่วงเวลากลางวันที่เดิมต้องปล่อยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนต่อความต้องการ ก็จะเปลี่ยนมาผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แทน ในขณะที่ในช่วงเวลากลางคืนที่ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไม่ได้ จึงจะใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
นอกจากนี้การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ ยังประหยัดพื้นที่การติดตั้งและมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้ดีกว่า การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนพื้นดิน โดยจะติดตั้งที่มุม 12 องศา ในขณะที่การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนพื้นดินจะทำมุมชัน (slope) 30 องศา ซึ่งทำให้รับแสงได้ดีขึ้น ดังนั้นในการผลิตไฟฟ้าให้ได้1เมกะวัตต์ ถ้าเป็นโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำจะใช้พื้นที่เพียง 1 เฮกตาร์(6.25ไร่)แต่ถ้าเป็นโซลาร์เซลล์บนพื้นดิน จะต้องใช้พื้นที่มากถึง 3 เฮกตาร์(18.75ไร่)
ส่วนประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ดีกว่า 4-10% เนื่องจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำนั้น จะมีน้ำใต้แผงโซลาร์เซลล์มาช่วยในเรื่องของการระบายความร้อนทำให้อุณหภูมิของแผงโซลาร์เซลล์ต่ำกว่าแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งติดตั้งบนพื้นดิน
โครงการทดลองของEDPที่เขื่อน Alto Rabagao ได้รับการสนับสนุนค่าไฟฟ้าจากภาครัฐในรูปของ feed in tariff ที่95 ยูโรต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง (3.2 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง )ภายในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งช่วยให้โครงการแข่งขันราคาได้ดีขึ้นกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น
ความสำเร็จของโครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ณ เขื่อน Alto Rabagao ทำให้ EDP นำไปขยายผล ที่เมือง Alqueva ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของโปรตุเกส โดยจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีกำลังผลิตติดตั้งรวมสูงถึง 480 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD)ใน ปลายปี 2563
อีกทั้ง EDPยังมีแผนที่จะพัฒนาโครงการ Hybrid System ในรูปแบบผสมผสานร่วมกันของโรงไฟฟ้าหลายประเภทมากขึ้น ทั้งพลังน้ำ โซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและเสถียรมากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาทดลองหาขนาดกำลังการผลิตที่เหมาะสมของ Hybrid System ดังกล่าว
ปัจจุบันโปรตุเกสมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณ 300 เมกะวัตต์ แต่รัฐบาลมีเป้าหมายในปี 2583 ที่จะเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเป็น 7,000 เมกะวัตต์ โดยในช่วงเริ่มต้นสำหรับโครงการทดลอง รัฐบาลโปรตุเกสยังให้การสนับสนุนค่าไฟฟ้าในรูปของ feed in tariff ที่95 ยูโรต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง (3.2 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง )ภายในระยะเวลา 15 ปี
นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ.กล่าวว่า ความตั้งใจของ กฟผ.ที่พาสื่อมวลชนไทยมาดูงานโครงการต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ผสมผสานโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ (Hydro Floating Solar Hybrid System) ในครั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่า เป็นโครงการที่สามารถทำได้จริง และยังไม่พบข้อบกพร่อง ซึ่ง กฟผ. ก็มีโครงการ hybrid ระหว่าง โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และ โซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำในลักษณะเดียวกันที่เขื่อน สิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งการประมูลคัดเลือกบริษัทผู้รับงานวิศวกรรม-จัดหา-ก่อสร้าง(Engineering-Procurement-Construction-EPC) ที่มีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก น่าจะรู้ผลในเดือนต.ค.2562 นี้และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ในปี2563
ทั้งนี้ กฟผ.มั่นใจว่า โครงการที่เขื่อนสิรินธร จะช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคอิสานตอนใต้ได้ดีขึ้น จากเดิมที่พื้นที่ดังกล่าวพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากโครงการห้วยเฮาะใน สปป.ลาว
โดยโครงการที่เขื่อนสิรินธร จะเป็นโครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนที่จะถูกทำลายสถิติ จากโครงการของEDP ขนาด480เมกะวัตต์ ที่เมือง Alqueva