กฟผ.ต่อเนื่องความร่วมมือกรมโรงงานฯ​ ศึกษาแนวทางจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่

564
- Advertisment-

กรอ.- กฟผ.​ ลงนามความร่วมมือ “โครงการศึกษาแนวทางการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ และพัฒนาต้นแบบโรงงานรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ของประเทศไทย” ฉบับใหม่ต่อเนื่อง​ หลังเอ็มโอยูฉบับเดิมครบกำหนดอายุ ไปเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2564​ ที่ผ่านมา​ โดยระบุแนวทาง การจัดการกับแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นและมีการดำเนินงานเชิงพาณิชย์แล้วในต่างประเทศ

ดร.​.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เผยว่า​ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 กฟผ. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการศึกษาแนวทางการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ และพัฒนาต้นแบบโรงงานรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ของประเทศไทย” ฉบับต่อเนื่อง​ ร่วมกับ นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อร่วมกันศึกษาข้อมูลด้านเทคนิคการรีไซเคิลและเทคโนโลยีในการนำกลับโลหะมีค่าจากซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ ศึกษาและจัดทำหลักเกณฑ์การปฏิบัติและข้อเสนอแนะ การจัดการมลพิษจากกระบวนการผลิตสำหรับโรงงานฯ แนวทางการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาต้นแบบโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ของประเทศไทย​ หลังจากที่บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องดังกล่าวได้ครบกำหนดอายุไปเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2564​ ที่ผ่านมา

โดย จากการศึกษาพบว่า การรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทยยังคงมีความท้าทายอยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเก็บรวบรวม ปริมาณและความแตกต่างชนิดของซากที่จะส่งผลต่อเทคนิคในการรีไซเคิลและความคุ้มค่าการลงทุน ตลอดจนเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ทำให้การพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นต่าง ๆ จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และจะต้องมีการติดตามเทคโนโลยีในการรีไซเคิลที่ทันสมัยอยู่เสมอ

- Advertisment -

ทั้งนี้ ปัจจุบันเทคโนโลยีการรีไซเคิลหรือแนวทาง การจัดการกับแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นและมีการดำเนินงานเชิงพาณิชย์แล้วในต่างประเทศ

สำหรับการลงนามความร่วมมือครั้งใหม่นี้ทั้งสองหน่วยงานมีวัตถุประสงค์ในการร่วมกันศึกษาแนวทางการรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ โดยการศึกษาในครั้งนี้จะมีการศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี พื้นที่ตั้งโรงงานที่มีศักยภาพ ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับ Ecosystem ของประเทศไทยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต้นแบบโรงงานรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ของประเทศในลำดับต่อไป

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน​ ( Energy​ News​ Center-ENC)​ รายงานว่า​ ในการลงนามเอ็มโอยูระหว่าง​ กฟผ.กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อ​ 23​ ​ม.ค.2563​ ได้มีการคาดการณ์ว่าการจัดตั้งโรงงานต้นแบบกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่แห่งแรกในประเทศไทย จะใช้เวลาศึกษา 2 ปี เพื่อที่จะมารองรับขยะแผงโซลาร์เซลล์ที่จะเกิดขึ้นล็อตแรกในปี 2565 จำนวน 112 ตัน

ในขณะที่แนวโน้มในอนาคตจะมีขยะจากแผงโซลาร์เซลล์ เพิ่มสูงขึ้นอีกมากตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ หรือ PDP

โดย​ขยะที่เป็นพวกแบตเตอรี่ตะกั่วและแบตเตอรี่จากรถยนต์ไฮบริด ตั้งแต่ปี 2558-2562 มีจำนวน 1,300 ตัน ได้ใช้วิธีกำจัดโดยการส่งออกไปยังโรงงานรีไซเคิลในประเทศเบลเยียม สิงคโปร์และญี่ปุ่น แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีและการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่อย่างเป็นระบบและครบวงจรในประเทศไทย ซึ่งอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ โดยเฉลี่ยประมาณ 20 ปี จึงคาดว่าในปี 2565 จะมีซากจากแผงโซลาร์เซลล์เกิดขึ้น 112 ตัน และจะเพิ่มเป็น 1.55 ล้านตัน ในปี 2600 ซึ่งหากไม่มีการวางแผนที่เหมาะสม จะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเป็นปัญหาอุปสรรคต่อแผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ตามนโยบายรัฐบาล

Advertisment