กฟผ.ชูแผนเปลี่ยนผ่านถ่านหินสู่พลังงานหมุนเวียน ในเวทีประชุมคู่ขนาน ESCAP สมัยที่ 80

599
- Advertisment-


กฟผ. ชู Mae Moh Green Model เปลี่ยนผ่านจากถ่านหินไปสู่พลังงานหมุนเวียน ด้วยกลยุทธ์ “Triple S” ได้แก่ Sources Transformation เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงโรงไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีใหม่ Sink Co-creation เพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน และ Support Measures Mechanism ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในการประชุมคู่ขนาน (side event) ของการประชุม ESCAP สมัยที่ 80 

วานนี้ (26 เมษายน 2567) นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 เป็นผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวเปิดการประชุมกลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนมุมมองการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ในการประชุมคู่ขนาน ภายใต้หัวข้อ “เชื่อมโยงความคิด เปลี่ยนผ่านภูมิภาคถ่านหินด้วยนวัตกรรมเพื่อโลกที่ดีกว่า โดยโครงการการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม” (Connecting Voices, Transforming Coal Regions for a Better World by Innovation Regions for a Just Energy Transition (IKI JET)) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 80 (The 80th Session of the United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) ณ ห้องประชุม 4 ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร 

สุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 กฟผ.

นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 กฟผ. เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญของนานาประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จากพลังงานถ่านหินสู่พลังงานหมุนเวียน โดยคำนึงถึงความยั่งยืนและเป็นธรรม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดย กฟผ. เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่อนาคตสีเขียวที่ยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ “Triple S” ได้แก่ Sources Transformation เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงโรงไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีใหม่ Sink Co-creation เพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน และ Support Measures Mechanism ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

- Advertisment -

นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้พัฒนาแผนการดำเนินงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรมของเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้แผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 7 (SDG 7) ของจังหวัดลำปาง โดยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานกำหนดนโยบาย ภาคอุตสาหกรรมถ่านหิน ภาคธุรกิจ และองค์กรภาคประชาสังคมจากนานาประเทศ เพื่อยกระดับองค์ความรู้ซึ่งนำมาสู่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรรม ด้วยการบูรณการประสบการณ์ด้านพลังงานถ่านหินระดับประเทศและระดับโลก ตลอดจนพัฒนาความเชี่ยวชาญในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรม เพื่อสร้างอุตสาหกรรมพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำต่อไป

สำหรับ Mae Moh Green Model นั้น กฟผ. แม่เมาะ ได้เปลี่ยนผ่านจากถ่านหินไปสู่พลังงานหมุนเวียน โดยพัฒนาศักยภาพพื้นที่ กฟผ. แม่เมาะ ให้มีทั้งพลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำแบบสูบกลับ การศึกษาเชื้อเพลิงในอนาคต เช่น ไฮโดรเจน และเทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (CCS) รวมทั้งมีการพัฒนาชุมชนนิคมการเกษตรด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ เช่น การปลูกผักอินทรีย์ การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้ชุมชนเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน เป็นต้น โดยมีการวิเคราะห์ถึงประโยชน์ ข้อดีและข้อเสียที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ ให้มีความพร้อมทั้งภาคประชาชน สิ่งแวดล้อม และการจัดการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างสูงสุด 

ทั้งนี้ การประชุมคู่ขนาน “เชื่อมโยงความคิด เปลี่ยนผ่านภูมิภาคถ่านหินด้วยนวัตกรรมเพื่อโลกที่ดีกว่า โดยโครงการการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม” จัดโดย GIZ Thailand และหน่วยงานพันธมิตร มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตาม และผลักดันการดำเนินการของประเทศสมาชิก ภายใต้โครงการการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Innovation Regions for a Just Energy Transition) โดยร่วมหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้และความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมทั้งเร่งรัดพัฒนาความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ 

Advertisment