กฟผ. จับมือบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาโมเดลธุรกิจแปลงพลังงานจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามายังระบบไฟฟ้า อาทิ บ้าน อาคาร และการควบคุมกำลังไฟฟ้าจากยานยนต์ไฟฟ้ากับศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ พร้อมศึกษาและเตรียมขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า ให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ใช้ทั่วประเทศ
วานนี้ (5 ตุลาคม 2563) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การแปลงพลังงานระหว่างยานยนต์ไฟฟ้า (Plug-in hybrid electric vehicle หรือ PHEV) กับระบบไฟฟ้า และการควบคุมกำลังไฟฟ้าจากศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ โดยมี ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. และนายโมะริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัดเป็นผู้ลงนาม พร้อมทั้งมีผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นพยาน ณ ห้องประชุมชั้น 18 อาคาร ท.103 สำนักงานกลาง กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นอีกก้าวสำคัญของ กฟผ. ที่พร้อมเดินหน้าส่งเสริมนวัตกรรมพลังงานรูปแบบใหม่สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งมั่นสนับสนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ กฟผ. และบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส จะร่วมกันศึกษาแนวทาง ทดสอบ เก็บข้อมูล และพัฒนาโมเดลธุรกิจจากการแปลงพลังงานระหว่างยานยนต์ไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้า และการควบคุมกำลังไฟฟ้าจากศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า รวมถึงศึกษาเส้นทางการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเตรียมขยายการสร้างและติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมและปริมาณของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย โดยความร่วมมือดังกล่าวจะอยู่ภายใต้กรอบระยะเวลา 3 ปี
รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการแปลงพลังงานระหว่างยานยนต์ไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้า (Vehicle to Grid : V2G) จะเป็นการศึกษาและทดสอบการจ่ายพลังงานจากแบตเตอรี่รถยนต์พีเอชอีวี ของ มิตซูบิชิ มายังระบบไฟฟ้า อาทิ บ้าน อาคารสำนักงาน โดยใช้เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตหากมีรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น การแปลงพลังงานดังกล่าวอาจจะสามารถรองรับนวัตกรรมโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant : VPP) เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพและเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในประเทศต่อไป