กฟผ. กำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์จากโซลาร์ลอยน้ำไฮบริดพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ตุลาคมนี้
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร
จ.อุบลราชธานี (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กับทุ่นลอยน้ำในเขื่อนสิรินธรครบทั้งหมด 7 ชุด พร้อมติดตั้ง
ทุ่นคอนกรีตของระบบยึดโยงใต้น้ำและก่อสร้างอาคารสวิตช์เกียร์แล้วเสร็จ โดยจะเตรียมทดสอบขนานเครื่องกําเนิดไฟฟ้าเข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าครั้งแรก (First Synchronization) ในวันพรุ่งนี้ ( 30 ก.ค.64 ) คาดจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ได้ในเดือนตุลาคม 2564
โรงไฟฟ้าดังกล่าวมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำและอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยใช้พื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่ผิวน้ำไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด ใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดกระจกทั้งสองด้าน (Double Glass) สามารถทนต่อความชื้นสูงได้ดี ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ
นอกจากนี้ ได้ติดตั้งทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุชนิดเดียวกับท่อส่งน้ำประปา จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ และที่สำคัญ การผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ได้ประมาณ 47,000 ตัน/ปี ซึ่งมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาภาวะโลกรวน ให้กับโลกด้วย
พร้อมกันนี้ กฟผ. ยังเร่งมือสร้าง “เส้นทางเดินชมธรรมชาติ หรือ Nature Walkway” เพื่อเป็นจุดเช็คอินและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี สามารถชมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกในมุมสูงอย่างใกล้ชิด โดยอยู่ระหว่างปรับภูมิทัศน์รอบพื้นที่ รวมถึงก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์สำหรับให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวก่อนเดินชม เตรียมเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในเดือนมกราคม 2565 คาดว่าจะช่วยเสริมให้ธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดกลับมาคึกคัก ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง