กพช.ไฟเขียวตรึงค่าไฟฟ้าครัวเรือนที่ใช้ไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ช่วง ม.ค.-เม.ย.2566 ที่ 3.78 บาท/หน่วย ขอเงิน ปตท. 1,500 ล้าน 4 เดือน บรรเทาวิกฤติราคาพลังงาน

1744
- Advertisment-

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)  มีมติเห็นชอบแนวทางตรึงค่าไฟฟ้า เดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 เฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ไว้เท่าเดิม 3.78 บาทต่อหน่วย ส่วนที่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ปรับการช่วยเหลือเป็นแบบขั้นบันได เพื่อส่งเสริมให้เกิดการประหยัดพลังงาน พร้อมขอความร่วมมือ ปตท. จัดสรรเงิน 1,500 ล้านบาทต่อเดือน เป็นเวลา 4 เดือน ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า มอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จัดทำรายละเอียดเพื่อดำเนินการช่วยค่าไฟฟ้าประชาชนต่อไป

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแนวนโยบายการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน (ตั้งแต่ ม.ค. – เม.ย. 2566) ดังนี้

1.การบริหารก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้า โดยจัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซฯ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยก่อน ในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ ( Ft) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย และมอบหมายให้ กกพ. เร่งศึกษาการจัดทำอัตราค่าไฟฟ้ากลุ่มประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป ซึ่งจะปรับอัตราค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันไดที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน

- Advertisment -

2. กพช.ได้ขอความร่วมมือจาก บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ให้พิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค. – เม.ย. 2566) มาช่วยสนับสนุนในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยแบ่งการจัดสรร ดังนี้

ส่วนที่ 1 เป็นส่วนลดราคาค่าก๊าซฯ ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแลการดำเนินการต่อไป ส่วนที่ 2 เป็นส่วนลดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงแยกก๊าซฯ ในการคำนวณต้นทุนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิง

และ 3. กพช. มีมติเห็นชอบให้ ปตท. ร่วมกับ กฟผ. บริหารจัดการผลกระทบของราคาก๊าซธรรมชาติต่อค่าไฟฟ้า โดยให้ ปตท. คิดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. , ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก ( SPP) ในระดับราคาเดียวกับที่ใช้การประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตั้งแต่เดือนที่ กพช. มีมติเป็นต้นไป

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบการดำเนินการตามมาตรการการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response) ในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้ก๊าซฯ โดยกำหนดให้ผลตอบแทนจากการดำเนินมาตรการ Demand Response เป็นส่วนหนึ่งของค่า Ft และมอบหมายให้ กกพ. เร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้สามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในภาพรวมต่อไป อีกทั้งที่ประชุม กพช. ยังได้มีมติมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาดำเนินการและกำกับดูแลแนวทางการบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงานต่อไป

ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 เพื่อบรรเทาวิกฤติด้านราคาพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงถึง 30 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียูในเดือน ต.ค. 2565 ซึ่งสูงกว่าอดีตในปี 2564 ที่ราคาเพียง 10 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู แต่คาดว่าช่วง ม.ค.-เม.ย. 2565 จะเป็นช่วงที่ราคาพลังงานปรับตัวขึ้นสูงสุด เพราะเข้าสู่ฤดูหนาวในต่างประเทศ ประกอบกับการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้น แต่คาดว่าหลังจากผ่านพ้นช่วงฤดูหนาว ราคาพลังงานน่าจะลดลง

อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคา LNG ปี 2566-2567 จะอยู่ที่ 25-33 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งกำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งในอ่าวไทยลดลงจึงจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวในราคาตลาดจร ( Spot LNG ) ที่มีราคาสูงเข้ามาทดแทนเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อต้นทุนเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าของประเทศให้สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงต้องเร่งหามาตรการช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าให้มากขึ้นต่อไป

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า  กพช.มีมติเห็นชอบแนวทางให้ช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนอย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยจะคงราคาค่าไฟฟ้าให้ได้ 3.78 บาทต่อเดือน ในช่วง ม.ค.-เม.ย. 2566 ส่วนที่ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 301-500 หน่วยต่อเดือน จะคงค่าไฟฟ้าไว้และช่วยเหลือแบบขั้นบันได แม้อัตราคาไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย. 2566 จะปรับขึ้นเท่าไหร่ก็ตาม ทั้งนี้มอบหมายให้ กกพ.ไปจัดทำรายละเอียดตามแนวทาง กพช.ต่อไป

Advertisment