กพช.ส่งสัญญาณวิกฤติพลังงานปลายปี งัดมาตรการจัดการไฟฟ้า วอนทุกฝ่ายช่วยประหยัด

302
- Advertisment-

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) งัดทุกแนวทางบริหารจัดการไฟฟ้า ช่วงวิกฤติราคาพลังงาน ต.ค.-ธ.ค. 2565 หลังราคา LNG โลกพุ่งสูงในช่วงฤดูหนาวพร้อมขอความร่วมมือประชาชน ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าและเอกชน ช่วยประหยัดพลังงานเต็มที่  

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการพิจารณากรณีราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)  ในตลาดโลกมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูงจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของหลายประเทศทั่วโลก

โดยความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคา LNG ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 28-29 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู และเกิดการตึงตัวของอุปทานก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน รวมถึงการอ่อนตัวของค่าเงินบาท 

- Advertisment -

ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565 เช่น หันไปใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล เพื่อการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ในช่วงที่ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มีราคาแพง แต่หากช่วงที่ LNG ราคาถูกลงมาอยู่ที่ประมาณ 26-29 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ก็จะพิจารณาสั่งซื้อมาเก็บสำรองไว้ รวมถึงการจัดหาแหล่งก๊าซฯจากในประเทศทั้งในอ่าวไทยและบนบก ตลอดจนพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA) เพิ่มเติมในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปี 2565 นี้ ให้ได้ปริมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 

รวมทั้งการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน (แม่เมาะ) โรงที่ 8 อีก 555 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนระยะสั้นจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ( SPP )และโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ( VSPP) ประมาณ 163 เมกะวัตต์พร้อมจัดหาน้ำมันดีเซล เพิ่มเติมให้กับโรงไฟฟ้าก๊าซฯ อีกประมาณ 20 ล้านลิตร และเพิ่มน้ำมันเตา 0.5% สำหรับป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าบางปะกง อีกทั้ง รับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากลาวเพิ่ม เช่น โครงการน้ำเทิน 1 ประมาณ 43 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเทินหินบุน อีก 9.6 เมกะวัตต์ พร้อมนำโรงไฟฟ้าถ่านหิน(แม่เมาะ) โรงที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้าด้วย 

“กระทรวงพลังงาน ยังเสนอ กพช.เพิ่มเติมว่า เมื่อมีการบริหารจัดการพลังงานช่วงราคาผันผวนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนก็คือ การประหยัดพลังงาน เช่น เปิดแอร์ 27 องศา กำหนดเวลาเปิด-ปิด ป้ายไฟLED ปิดปั๊มหลัง 4 ทุ่ม ห้างสรรพสินค้า ปิดแอร์ก่อนเวลาปิดห้างฯ ประมาณ 30 นาที หรือ  1 ชั่วโมง รวมถึงกำหนดเวลาเปิด-ปิดร้านสะดวกซื้อเซเว่นฯ เป็นต้น ซึ่งมาตรการนี้เป็นการขอความร่วมมือ”

ทั้งนี้ ที่ประชุม กพช. ได้มอบหมายให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานฯ แต่ละมาตรการ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.),กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.), กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) ,บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ,กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เร่งดำเนินการตามมาตรการ โดยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด  

ซึ่งที่ประชุม กพช. ได้มอบหมายให้ สำนักงาน กกพ. ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยเปรียบเทียบราคา Spot LNG นำเข้ากับราคาเชื้อเพลิงและต้นทุนในแต่ละมาตรการ เพื่อนำมาพิจารณาในการที่จะคงการใช้มาตรการที่มีความคุ้มค่าและเลิกใช้มาตรการที่ไม่มีความคุ้มค่าโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ 

ทั้งนี้หากสถานการณ์ราคาพลังงานเปลี่ยนแปลงไปอันจะส่งผลให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้มาตรการต่างๆ แล้วให้สำนักงาน กกพ. รายงานต่อคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน (คณะอนุกรรมการฯ) โดยเร็ว และที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยคณะอนุกรรมการฯติดตามการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ในช่วงเดือนตุลาคม2565 – เดือนธันวาคม 2565 อย่างใกล้ชิด และรายงานต่อ กพช. ทราบต่อไป

Advertisment