กบน. เตรียมประชุมผ่อนผัน “มาตรการยกเลิกชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ” ไปอีก 2 ปี สิ้นสุดปี 2569 แทน

465
- Advertisment-

คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เตรียมเปิดประชุมกลางเดือน มิ.ย. 2567 พิจารณา “มาตรการยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ” ที่จะสิ้นสุด 24 ก.ย. 2567 นี้ คาดขอผ่อนผันเลื่อนใช้มาตรการฯ ดังกล่าวไปอีก 2 ปี หรือไปสิ้นสุด 24 ก.ย. 2569 แทน เหตุผู้ประกอบการและเกษตรกรยังไม่พร้อมปรับตัว สำหรับนำเอทานอลและปาล์มน้ำมันไปเพิ่มมูลค่าและจำหน่ายด้านอื่นแทนการขายเป็นส่วนผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล หาก กบน.เห็นชอบ ต้องเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติต่อไป

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เตรียมเปิดประชุมกลางเดือน มิ.ย. 2567 นี้ เพื่อพิจารณา “มาตรการยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ” เนื่องจากที่ผ่านมา พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งหมด ทั้งกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันไบโอดีเซล ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา แต่ กบน.ได้ขอผ่อนผันเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 24 ก.ย. 2567 นี้

เนื่องจากกฎหมายเปิดโอกาสให้ผ่อนผันได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี ดังนั้นที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ขอผ่อนผันมาแล้ว 1 ครั้ง ในกรอบระยะเวลา 2 ปี  (จากกำหนดเดิม 24 ก.ย. 2565 เป็น 24 ก.ย. 2567 นี้) ดังนั้นตามกฎหมายยังสามารถขอผ่อนผันได้อีกเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งมีแนวโน้มว่า สกนช.จะเสนอขอใช้สิทธิ์ผ่อนผันการยกเลิกมาตรการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ไปอีก 2 ปี ซึ่งจะไปสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2569 แทน

- Advertisment -

โดยเหตุผลที่ต้องขอผ่อนผันมาตรการฯ ดังกล่าวออกไป เนื่องจากที่ผ่านมา สกนช. ได้เข้าไปศึกษาข้อเท็จจริงกับทางเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องพบว่า เกษตรกรและผู้ประกอบการยังไม่มีความพร้อมเพียงพอในการปรับตัว

ทั้งนี้หากมาตรการฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้กองทุนฯ ไม่สามารถนำเงินไปพยุงราคาน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ (น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอล) และน้ำมันไบโอดีเซล (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์) ดังนั้นเมื่อราคาเอทานอลและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มีราคาแพง ทางผู้ค้าน้ำมันจะเลือกผสมเอทานอลและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ในขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เพื่อควบคุมต้นทุนราคาน้ำมัน และส่งผลให้ปริมาณเอทานอลและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์คงเหลือในระบบจำนวนมาก

ประกอบกับปัจจุบันกระทรวงพลังงานกำลังอยู่ในขั้นตอนการลดชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในปั๊มลง จากเดิมมีกลุ่มน้ำมันเบนซินจำหน่ายถึง 5 ชนิด (น้ำมันเบนซินออกเทน 95, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85) โดยจะปรับลดให้เหลือเพียง 2 ชนิดคือ น้ำมันพื้นฐาน และน้ำมันทางเลือก ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณเอทานอลคงเหลือในระบบปริมาณมาก จนส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและโรงงานเอทานอลได้

เช่นเดียวกับน้ำมันกลุ่มไบโอดีเซล ที่มีการจำหน่ายถึง 3 ชนิด (น้ำมันไบโอดีเซล B7, B10 และ B20) ซึ่งตอนนี้กระทรวงพลังงานกำหนดให้ลดเหลือแค่ 2 ชนิด โดยกรมธุรกิจพลังงานได้ประกาศยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B10 แล้ว และให้น้ำมันไบโอดีเซล B7 เป็นน้ำมันพื้นฐาน และไบโอดีเซล B20 เป็นน้ำมันทางเลือก มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์คงเหลือในระบบมากขึ้นเช่นกัน

รวมถึงในอนาคตการใช้รถยนต์จะเปลี่ยนไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์และน้ำมันไบโอดีเซลยิ่งน้อยลงไปอีก

ที่ผ่านมา สกนช. ได้พยายามเข้าไปให้ข้อมูลผู้ประกอบการปาล์มน้ำมันและเอทานอล เพื่อให้เตรียมปรับตัว เช่น ให้หันมาเพิ่มมูลค่าให้กับเอทานอลและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ด้วยการต่อยอดเอทานอลไปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เครื่องสำอางและการทำขนมแทน ส่วนน้ำมันปาล์ม ก็นำไปใช้บริโภค หรือ นำไปทำเป็นน้ำมันนวดขาแทนได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้ามากขึ้นด้วย แต่การปรับตัวยังไม่เป็นผลเท่าที่ควร ดังนั้นหากยกเลิกการชดเชยราคาทันที จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการและเกษตรกรทั้งระบบ จึงต้องขอผ่อนผันมาตรการฯ ดังกล่าวไปอีก 2 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อน     

ทั้งนี้หาก กบน.เห็นชอบให้ผ่อนผันมาตรการฯ ดังกล่าวไปอีก 2 ปี ทางกระทรวงพลังงานจะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป  

Advertisment