กบน. ถังแตก! ปล่อยลอยตัวดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่ เม.ย. 2567 นี้

1806
- Advertisment-

คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ประกาศปล่อยลอยตัวราคาดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่ เม.ย. 2567 เป็นต้นไป แต่จะพยายามหารือกระทรวงการคลังช่วยลดภาษีดีเซลเพิ่ม เพื่อไม่ให้ราคาปรับขึ้นสูงเกินไป ระบุสาเหตุต้องปรับขึ้นราคาหลังหมดมาตรการตรึงราคา 30 บาทต่อลิตรในวันที่ 31 มี.ค. 2567 นี้ เนื่องจากกองทุนฯ ถังแตกติดลบเกือบ 1 แสนล้านบาท   

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567 ได้หารือถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประกาศอัตราเงินชดเชยอยู่ โดย กบน.เห็นชอบให้ปรับอัตราเงินชดเชยกองทุนน้ำมันฯ ประเภทน้ำมันดีเซลเพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเกิน 30 บาทต่อลิตรได้ ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2567 เป็นต้นไป

โดยการดำเนินการปรับอัตราเงินชดเชยกองทุนน้ำมันฯ ในกลุ่มน้ำมันดีเซล กบน. จะพิจารณาถึงข้อมูลต่างๆ ตามความเหมาะสมของช่วงเวลา เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและการบริหารจัดการของผู้ค้าน้ำมันมากจนเกินไป อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 31 มี.ค. – 1 เม.ย. 2567 ยังไม่มีการดำเนินการอย่างแน่นอน

- Advertisment -

ทั้งนี้ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 มี.ค. 2567 ซึ่งกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังร่วมกันบริหารจัดการราคาขายปลีก โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกยังคงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 104.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (เฉลี่ยวันที่ 1 – 20 มี.ค. 2567) กบน. จึงเห็นควรมีการพิจารณาปรับอัตราเงินชดเชยกองทุนฯ ประเภทน้ำมันดีเซล เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายในประเทศสอดคล้องกับราคาตลาดโลกมากขึ้นนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2567 เป็นต้นไป

โดยจะนำข้อมูลต่างๆ ที่มีผลต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมาพิจารณาร่วมกับแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2563 – 2567 ทุกครั้งที่มีการปรับอัตราเงินกองทุนฯ ประเภทน้ำมันดีเซล ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้จะเป็นการช่วยให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวดีขึ้น เพื่อสามารถใช้กองทุนฯ เป็นเครื่องมือรองรับกับสถานการณ์วิกฤตราคาน้ำมันที่ผันผวนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะดำเนินการประสานกับกระทรวงการคลังเพื่อหารือในเรื่องอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่อไป

สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 24 มี.ค. 2567 กองทุนฯ ติดลบ 98,220 ล้านบาทแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 51,136 ล้านบาท ส่วนบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 47,084 ล้านบาท

Advertisment