กบง.อนุมัติ 4 มาตรการด้านพลังงานกระตุ้นเศรษฐกิจรวมวงเงิน 44,000 ล้านบาท ช่วงวิกฤติ COVID-19 ได้แก่ การคืนเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้า 21.5 ล้านครัวเรือนรวม ประมาณ 30,000 ล้านบาท, การปรับลดและตรึงค่าไฟฟ้า 3.50 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 3 เดือนคิดเป็นวงเงินประมาณ9,000กว่าล้านบาท การขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้านาน 6 เดือนสำหรับรอบบิลเม.ย.และพ.ค. 2563 เฉพาะบ้านอาศัย SME และโรงแรม และนำเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า 4,000 ล้านบาท มาช่วยจ้างงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ขุดคลอง บ่อบาดาล ลดภัยแล้ง
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ว่า ที่ประชุม กบง.ออก 4 มาตรการเร่งด่วนด้านพลังงานกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคไวรัสCOVID-19 ได้แก่ 1.คืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านเรือนและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) จำนวน 21.5 ล้านครัวเรือน รวมวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท โดยมอบหมายให้การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) ไปออกประกาศกำหนดวิธีการคืนเงิน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการหักค่าไฟฟ้า หรือ คืนเป็นเงินสด ตามจำนวนเงินที่แต่ละรายวางเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้าไว้ โดยจะเริ่มคืนเงินตั้งแต่รอบบิลเดือนมี.ค.2563
2.ปรับลดและตรึงค่าไฟฟ้าเอาไว้ที่ 3.50 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนเม.ย.-มิ.ย. 2563 จากปัจจุบันที่อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วย โดยหากรัฐไม่มีมาตรการใดๆเลย ค่าไฟฟ้าจะต้องปรับขึ้นในเดือนพ.ค. 2563 เป็น 3.70 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้การลดและตรึงค่าไฟฟ้าเอาไว้ที่ 3.50 บาทต่อหน่วย จะมาจากเงินในส่วนที่ให้ กฟน.ช่วยเหลือค่าไฟให้กับPEA ที่อัตรา11.6 สตางค์ต่อหน่วย และการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ปรับลดค่าเอฟทีลงให้อีก11.6 สตางค์ต่อหน่วย เท่ากับช่วยลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft)ได้ 23.2 สตางค์ต่อหน่วย โดยหากคิดคำนวณเป็นเม็ดเงินจะเท่ากับ กฟน. , PEA และกกพ. ช่วยเหลือรวม 9,000 ล้านบาท
3.ขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้าใน 2 รอบบิลคือ รอบบิลเดือนเม.ย.และพ.ค. 2563 ให้สามารถยืดเวลาชำระได้นานถึง 6 เดือน เฉพาะประเภทบ้านที่อยู่อาศัย ,SME และกลุ่มธุรกิจโรงแรม
4.การนำเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า 4,000 ล้านบาท ไปสร้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงสถานการณ์ภัยแล้ง เช่น การจ้างงานขุดบ่อบาดาล ขุดลอกคูคลอง เป็นต้น และให้นักศึกษาเข้ามารับงานเป็นผู้ประเมินผลโครงการได้ อย่างไรก็ตามคาดว่าในอนาคตจะมีวงเงินเพิ่มมากกว่า 4,000 ล้านบาท จากหน่วยงานต่างๆ มาสนับสนุน
สำหรับเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า 4,000 ล้านบาท มาจากวงเงินกองทุนฯประจำปี 2563 จำนวน 2,500 ล้านบาท และปี 2562 อีกจำนวน 1,500 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินสำหรับพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอยู่แล้วจึงไม่ผิดวัตถุประสงค์การใช้เงินแต่อย่างใด
นายสนธิรัตน์ กล่าวด้วยว่า มาตรการดังกล่าวจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม. )ในวันที่ 10 มี.ค. 2563 เพื่อเร่งให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว ซึ่งทั้ง 4 มาตรการดังกล่าวรวมเป็นวงเงินประมาณ 44,000 ล้านบาท ที่จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติCOVID-19 ได้