คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีมติตรึงราคา LPG ต่ออีก 2 เดือน ระหว่าง พ.ย.-ธ.ค. 2565 ที่ราคา 408 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม คาดเงินกองทุนน้ำมันฯ ไหลออกเดือนละ 669 ล้านบาท แต่ยังอยู่ในกรอบวงเงินที่ใช้ได้ 45,000 ล้านบาท กระทรวงพลังงานส่งสัญญาณต้นปี 2566 แยกราคา LPG ภาคครัวเรือนออกจากภาคขนส่งและอุตสาหกรรมโดยจะชดเชยราคาเฉพาะ LPG ภาคครัวเรือนเพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันฯ
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ในวันที่ 20 ต.ค. 2565 ว่า กบง. ได้พิจารณาราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม(LPG) หลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาที่ 408 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ในวันที่ 31 ต.ค. 2565 โดยที่ประชุม กบง.มีมติต่ออายุการตรึงราคาดังกล่าวออกไปอีก 2 เดือน ระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 ทั้งนี้เนื่องจากต้องการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติพลังงาน และภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ภายหลังการประชุม กบง. จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อนำเงินกองทุนฯ ไปพยุงราคา LPG ตามมติ กบง.ต่อไป เบื้องต้น กบน.คาดว่าจะต้องใช้เงินกองทุนฯ อุดหนุนราคา LPG ประมาณเดือนละ 669 ล้านบาท ซึ่งยังเพียงพอและอยู่ในกรอบวงเงินบัญชี LPG ที่อนุมัติให้ชดเชยได้ไม่เกิน 45,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามภายหลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา LPG ดังกล่าว ทางกระทรวงพลังงานมีแนวทางจะแยกราคา LPG ภาคครัวเรือน ออกจาก LPG ภาคขนส่งและอุตสาหกรรม เนื่องจากต้นทุนต่างกัน และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยจะทำการอุดหนุนราคาเฉพาะ LPG ภาคครัวเรือนเท่านั้น เพื่อลดภาระกองทุนฯ ลงด้วย แต่ขณะนี้ฐานข้อมูลผู้ใช้และต้นทุนราคา LPG ที่กรมธุรกิจพลังงานดูแลอยู่ยังจัดทำไม่เสร็จ คาดว่าต้นปี 2566 จะสามารถแยกราคาเป็น 2 กลุ่มได้ แต่จะต้องระวังปัญหาการลักลอบใช้ LPG ข้ามภาคด้วย
สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 16 ต.ค. 2565 กองทุนฯมีสถานะติดลบ 126,690 ล้านบาท โดยนำไปชดเชยราคาLPG รวม 42,564 ล้านบาท และชดเชยราคาน้ำมันรวม 84,126 ล้านบาท