คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เตรียมประชุมสัปดาห์นี้ เร่งหาทางออกราคาดีเซลและ LPG ก่อนสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาดีเซล 30 บาทต่อลิตร และ LPG ราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ในวันที่ 31 มี.ค. 2567 ส่งสัญญาณปรับขึ้นเพดานราคาดีเซลเป็น 32 บาทต่อลิตร พร้อมชงกระทรวงการคลังปรับลดภาษีดีเซลเพิ่มอีก หวังพยุงสภาพคล่องกองทุนฯ ที่ติดลบเกือบ 1 แสนล้านบาท
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า ในวันที่ 31 มี.ค. 2567 ที่จะถึงนี้ จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ไม่ให้เกิน 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ดังนั้นภายในสัปดาห์นี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะต้องเร่งประชุมหารือเกี่ยวกับราคาดีเซลและราคา LPG ก่อนสิ้นสุดมาตรการดังกล่าว และหลังจากนั้นคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะประชุมเพื่อดำเนินการตามมติ กบง. ต่อไป
อย่างไรก็ตามการพิจารณาราคาดีเซลในครั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงคือ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งล่าสุด (17 มี.ค. 2567 ) กองทุนฯ ประสบปัญหาเงินติดลบเกือบ 1 แสนล้านบาท โดยติดลบรวมอยู่ที่ -96,270 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -49,339 ล้านบาท และมาจากบัญชี LPG ติดลบรวม -46,931 ล้านบาท โดยที่ผ่านมากองทุนฯ เคยติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถึง -1.3 แสนล้านบาท เมื่อปี 2565
ส่วนฐานะการเงินรายวัน พบว่าปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินไหลออกถึงวันละประมาณ 252 ล้านบาท ซึ่งมาจากการชดเชยราคาดีเซลถึง 251.86 ล้านบาทต่อวัน และชดเชยราคา LPG ประมาณ 0.97 ล้านบาทต่อวัน
ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเคยส่งสัญญาณถึงแนวทางการขยับขึ้นเพดานราคาดีเซลจาก 30 บาทต่อลิตร เป็น 32 บาทต่อลิตร เพื่อลดภาระกองทุนฯ ลง จากปัจจุบัน (25 มี.ค. 2567) กองทุนฯ นำเงินไปชดเชยราคาดีเซลถึง 4.65 บาทต่อลิตร จากยอดการใช้ดีเซลทั้งประเทศถึงเกือบ 70 ล้านลิตรต่อวัน โดยจะพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรการลดภาษีดีเซลของกระทรวงการคลังและราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย
โดยในที่ประชุม กบง. อาจมีการเสนอใน 2 แนวทางคือ 1.หากราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกอยู่ในระดับ 100-105 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทางกระทรวงพลังงานจำเป็นจะต้องขอให้กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังพิจารณาปรับลดอัตราภาษีฯดีเซลใหม่ จากปัจจุบันลดภาษี 1 บาทต่อลิตรเป็น 2 บาทต่อลิตรและอาจต้องขยับเพดานราคาดีเซลเพิ่มเป็น 32 บาทต่อลิตร เพื่อให้สามารถมีเงินบริหารสภาพคล่องได้มากขึ้นหากเกิดกรณีราคาตลาดโลกผันผวนหนัก
2.ปรับลดภาษีฯ ดีเซลเป็น 5 บาทต่อลิตรและขยับเพดานราคาดีเซลเป็น 32 บาทต่อลิตร เพื่อให้กองทุนฯ สามารถบริหารจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพื่อสะสมไว้ชำระหนี้เงินต้น ที่กองทุนฯ ได้กู้เงินก้อนแรก 30,000 ล้านบาท กับสถาบันการเงินไว้ และจะถึงกำหนดชำระเงินต้นครั้งแรกในเดือน พ.ย. 2567 นี้ ซึ่งต้องชำระให้ตรงกำหนดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินที่กู้ยืมมา ส่วนเงินกู้ทั้งหมดที่กู้มาแล้วอยู่ที่ 105,333 ล้านบาท
สำหรับมาตรการลดภาษีดีเซลนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา ได้กำหนดลดอัตราภาษีดีเซลลง 1 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 20 ม.ค ถึง 19 เม.ย. 2567
นอกจากนี้ยังต้องจับตาในส่วนของราคา LPG ที่ตรึงราคาไว้ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เนื่องจากได้ตรึงราคาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 จนถึงเดือน มี.ค. 2567 เป็นเวลา 1 ปีแล้ว ขณะที่กรอบวงเงินที่ กบง. อนุมัติให้ชดเชยราคาดีเซลได้ไม่เกิน 48,000 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันได้ใช้ไปถึง 46,931 ล้านบาทแล้ว ดังนั้นหากจะตรึงราคาต่อไปในระยะยาว จำเป็นต้องมีการพิจารณากรอบวงเงินดังกล่าว และฐานะกองทุนฯ ว่าจะสามารถรองรับได้เท่าไหร่ด้วย