ที่ประชุม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) วันนี้ ( 7 เม.ย.64) พิจารณาหยุดต่ออายุโครงการยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยให้สิ้นสุดไปพร้อมกับโครงการช่วยลดค่าไฟฟ้าประชาชนรอบ 2 ในเดือน มี.ค. 2564 ขณะที่ 3 การไฟฟ้ารายได้หายไปรวม 420 ล้านบาทจากมาตรการยกเว้น Minimum Charge ดังกล่าวตลอดระยะเวลา 1 ปี
แหล่งข่าวในคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) วันที่ 7 เม.ย. 2564 ได้พิจารณาลงนามเพื่อยกเลิกการต่ออายุมาตรการ “ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) สำหรับผู้ประกอบการ” หลังสิ้นสุดโครงการไปเมื่อ 31 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ดำเนินมาตรการดังกล่าวมาครบเวลา 1 ปี (เริ่มตั้งแต่ มี.ค. 2563)
ทั้งนี้ ระบบ Minimum Charge เป็นอัตราค่าไฟฟ้าเหมาจ่ายขั้นต่ำ 70% ของการใช้ย้อนหลัง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยเมื่อภาครัฐยกเว้นการเก็บ Minimum Charge ชั่วคราว ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถจ่ายค่าไฟฟ้าตามที่ใช้จริงเท่านั้น
อย่างไรก็ตามเมื่อมาตรการยกเว้น Minimum Charge หมดอายุลง ผู้ประกอบการจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากข้อมูลฐานการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 12 เดือนที่ผ่านมาของผู้ประกอบการอยู่ระดับต่ำ ทำให้อัตราเหมาจ่ายขั้นต่ำที่จะเริ่มจัดเก็บกันใหม่ไม่สูงมากนัก
โดย กกพ.ยังเห็นว่าโครงการช่วยลดค่าไฟฟ้าประชาชนรอบ 2 ระหว่าง ก.พ. – มี.ค. 2564 ได้สิ้นสุดลงแล้วเช่นกัน จึงเห็นควรให้มาตรการยกเว้น Minimum Charge สำหรับผู้ประกอบการเสร็จสิ้นพร้อมกันไปด้วย
สำหรับมาตรการยกเว้น Minimum Charge ที่ดำเนินการมาตลอด 1 ปีนั้น ส่งผลให้ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. ) มีรายได้ที่หายไปประมาณ 35 ล้านบาทต่อเดือน หรือรวมประมาณ 420 ล้านบาท
ขณะที่โครงการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าประชาชน รอบ 2 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ระหว่างเดือน ก.พ.-มี.ค. 2564 คาดว่าจะใช้เงินอุดหนุนประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนหนึ่งประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท เป็นเงินค่าบริหารจัดการไฟฟ้าที่ กกพ.ดูแลอยู่และนำมาช่วยเหลือประชาชน ส่วนที่เหลือเป็นเงินส่วนกลางจากภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างสรุปยอดเงินสนับสนุนค่าไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนจะทราบผลที่ชัดเจนต่อไป