คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จัดสัมมนาสร้างความเข้าใจมาตรฐานสัญญาให้บริการไฟฟ้า ที่ได้ศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศและปรับปรุงให้เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย 12 เรื่องที่สำคัญ พร้อมเตรียมทบทวนมาตรฐานสัญญาให้บริการไฟฟ้ารายย่อย ที่มีกว่า 20 ล้านราย ที่ใช้มากว่า 4 ปี ให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เล็งแก้ปัญหาคิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังชาวบ้านได้ไม่เกิน 1 ปี และการตัดไฟฟ้ากรณีชำระเงินล่าช้าต้องเพิ่มสิทธิให้ผ่อนผันได้ 2 ครั้ง เป็นต้น
วันที่ 19 พ.ย. 2562 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ได้สัมมนามาตรฐานสัญญาผู้ใช้ไฟฟ้า ให้คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต(คพข.) 13 เขตทั่วประเทศ พร้อมด้วยผู้ประกอบการไฟฟ้าและประชาชนทั่วไป ได้รับทราบและเข้าใจตรงกันถึง “มาตรฐานสัญญาให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่”(ประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลางและประเภทที่ 4 กิจการขนาดใหญ่ และประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง รวมกว่า 120,000 รายทั่วประเทศ) ที่ กกพ.บังคับใช้มาตั้งแต่ 29 พ.ย.2561 และเตรียมทบทวน “มาตรฐานสัญญาให้บริการไฟฟ้ารายย่อย” ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย 20 ล้านรายทั่วประเทศ ซึ่ง กกพ.ประกาศใช้มาตั้งแต่ 21 มี.ค.2559 หรือประมาณ 4 ปีแล้ว
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กกพ.ได้จัดทำมาตรฐานสัญญาให้บริการไฟฟ้าทั้งผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยและรายใหญ่ ดังนั้นเพื่อให้ คพข.และประชาชนได้ทราบถึงมาตรฐานดังกล่าวและเกิดการปฏิบัติอย่างจริงจังมากขึ้น จึงได้จัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานดังกล่าวขึ้นและคาดหวังให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับการคุ้มครองตามประกาศมาตรฐานและสัญญาดังกล่าวเพื่อความเป็นธรรมต่อไป
สำหรับมาตรฐานสัญญาให้บริการไฟฟ้านั้น กกพ.ได้ศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศและปรับปรุงให้เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย 12 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ 1.การแจ้งสิทธิหน้าที่แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ผู้ให้บริการไฟฟ้าหรือการไฟฟ้าจะต้องอธิบายสัญญาการใช้ไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบและต้องตรวจสอบได้ 2.การตรวจสอบเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า(มิเตอร์) ซึ่งกำหนดให้ตรวจสอบมิเตอร์ทุก 3 ปีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย และตรวจสอบทุก 2 ปีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่
3.การคิดค่าไฟฟ้าต่ำกว่าหรือเกินกว่าความเป็นจริง ซึ่งตามมาตรฐานฯ กำหนดให้เรียกเก็บค่าไฟฟ้าย้อนหลังได้ไม่เกิน 3 ปี สำหรับกรณีเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย และไม่เกิน 1หรือ 2 ปี สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ แต่ขณะนี้กำลังทบทวนให้คิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยได้ไม่เกิน 1 ปีแทน และหากคิดค่าไฟฟ้าเกินจริง ผู้ให้บริการไฟฟ้าต้องแจ้งให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบภายใน 15 วันนับตั้งแต่ตรวจพบความคลาดเคลื่อนและต้องคืนเงินส่วนต่างให้ผู้ใช้ไฟฟ้าภายใน 30 วัน
4.การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าไฟฟ้าและค่าธรรมเนียม สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยนั้น ทางผู้ให้บริการไฟฟ้าจะต้องออกเป็นประกาศแทนเนื่องจากจำนวนผู้ใช้มีมากถึง 20 ล้านราย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่นั้น จะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน และต้องมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกราย
5.การจัดส่งใบแจ้งค่าไฟฟ้า ผู้ให้บริการไฟฟ้าจะต้องจัดส่งใบแจ้งค่าไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าตามรอบการใช้ไฟฟ้าโดยส่งไปที่อยู่ ณ สถานที่ใช้ไฟฟ้า ยกเว้นคู่สัญญาตกลงไว้เป็นอย่างอื่น 6.ข้อมูลประวัติการใช้ไฟฟ้า ผู้ให้บริการไฟฟ้าต้องเก็บข้อมูลประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังไม่น้อยกว่า 2 ปี เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบได้
7.ระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้าและการงดจ่ายไฟฟ้า มาตรฐานสัญญาฯ กำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยต้องชำระค่าไฟฟ้าภายใน 10 วัน หากไม่ชำระจะมีหนังสือเตือนให้ดำเนินการภายใน 5 วัน ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้ามีสิทธิผ่อนผันเป็นลายลักษณ์อักษร ได้ 2 ครั้ง แต่ผู้ให้บริการไฟฟ้ามีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมการผ่อนผันได้ ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ต้องชำระภายใน 15 วัน หลังจากนั้นจะมีหนังสือเตือนให้ดำเนินการให้เสร็จในอีก 5 วัน หากไม่ชำระยังสามารถใช้สิทธิผ่อนผันเป็นลายลักษณ์อักษรได้ 2 ครั้ง และผู้ให้บริการไฟฟ้ามีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมการผ่อนผันได้เช่นกัน
8.การต่อไฟฟ้าคืน ผู้ให้บริการไฟฟ้าจะต้องต่อไฟคืนให้ผู้ใช้ภายใน 24 ชั่วโมง ภายหลังผู้ใช้ไฟฟ้าไปชำระค่าไฟฟ้าที่ค้างไว้แล้ว ยกเว้นกรณีที่งดจ่ายค่าไฟฟ้าเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 15 วัน
9. การดับไฟฟ้าเพื่อปฏิบัติงาน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่นั้น จะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนดับไฟฟ้า ซึ่งต้องหารือกับผู้ใช้ไฟฟ้าก่อนเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ อุตสาหกรรมน้อยที่สุด ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้ารายเล็กยังไม่มีการกำหนดให้แจ้งแต่อย่างใด
10.การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ผู้ให้บริการไฟฟ้าต้องคืนดอกผลของเงินหลักประกันให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยทุก 5 ปี ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ให้ยึดตามเกณฑ์ที่ กกพ.กำหนดและให้ผู้ให้บริการไฟฟ้าต้องพิจารณาลดหย่อนเงินหลักประกันสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีประวัติการชำระค่าไฟฟ้าดี
11. มาตรฐานทางวิศวกรรมและคุณภาพบริการ ผู้ให้บริการไฟฟ้าต้องให้บริการเป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการ มิฉะนั้นต้องชดเชยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าตามกำหนด และต้องรีบแจ้งให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบถึงสาเหตุไฟฟ้าขัดข้องโดยเร็วด้วย
12.การร้องเรียนและการแก้ไขเรื่องร้องเรียน ผู้ให้บริการไฟฟ้าต้องทำประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการข้อร้องเรียนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ทราบและต้องเผยแพร่ผ่านสื่อที่ผู้ใช้บริการเข้าถึงได้โดยเร็ว และแสดงไว้ ณ ที่ทำการของผู้ให้บริการไฟฟ้า
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งจากการรับฟังความเห็นที่ผ่านมาพบข้อเสนอให้ ใช้กลไกใบแจ้งค่าไฟฟ้าระบุสิทธิของผู้ใช้ไฟฟ้ากรณีการงดจ่ายไฟฟ้าและสามารถร้องเรียนผ่าน คพข.ได้,เปิดช่องทางให้ทำธุรกรรมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทางอิเล็กทรอนิกส์,คิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังได้ไม่เกิน 1 ปี, อนาคตต้องปรับเป็นมิเตอร์ไฟฟ้าแบบดิจิตอล ป้องกันข้อผิดพลาดในการคิดค่าไฟฟ้าและยกเว้นการตัดไฟฟ้าสำหรับบ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียงหรือกรณีมีผู้ประสบภัย เป็นต้น โดยหลังการทบทวนและเปิดรับฟังความเห็นแล้วจะต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
นายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า ต้องการให้ คพข.ทำงานเชิงรุกโดยตรวจสอบว่าผู้ให้บริการไฟฟ้าดำเนินการตามมาตรฐานสัญญาฯ หรือไม่และให้คำแนะนำต่างๆ แทนการรอรับเรื่องร้องเรียนเพียงอย่างเดียว
นายพิเศษ เลิศวิไล ประธาน คพข.เขต 13 และในฐานะตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า ต้องการให้มาตรฐานสัญญาผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ที่ประกาศมาเกือบครบ 1 ปี เกิดการปฏิบัติให้เข้มข้นครบถ้วน เช่น การตรวจมิเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนการทบทวนมาตรฐานสัญญาผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย ถือเป็นสิ่งที่ดี และอยากให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เช่น การคิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังได้ไม่เกิน 1 ปี เป็นต้น
นายสุริยัน เหล่าสุอาภา ตัวแทนผู้ใช้ไฟฟ้าและคพข. กล่าวว่า คาดว่าในปี 2562-2563 จะเกิดปัญหาความล่าช้าในการชำระค่าไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้นผู้ให้บริการไฟฟ้าไม่ควรเร่งตัดไฟฟ้าทันที แต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อน นอกจากนี้เสนอให้ คพข.ทั้ง 13 เขต ควรมีการประชุมร่วมกันประมาณ 1-3 เดือนต่อครั้ง เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลด้านไฟฟ้าและบริการเพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด