กกพ.เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์​เปิด​ให้บุคคลที่สามใช้ระบบ​สายส่ง​ไฟฟ้า​

4338
N4037
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เห็นชอบออกร่างหลักเกณฑ์การเปิดให้บุคคลที่สามใช้ระบบสายส่งไฟฟ้า รองรับนโยบายส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน พร้อมเปิดรับฟังความเห็น “ร่าง หลักเกณฑ์ข้อกำหนดการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (TPA Framework)” ระหว่างวันที่ 20 ส.ค. -3 ก.ย. 2564 มีสาระสำคัญคือกำหนดให้ผู้ให้บริการสายส่งต้องจัดทำ TPA Code ที่เปิดให้บุคคลที่ 3 เชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC) รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้เปิดรับฟังความเห็นร่าง หลักเกณฑ์ข้อกำหนดการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (TPA Framework) ระหว่างวันที่ 20 ส.ค. -3 ก.ย. 2564 ทั้งนี้เพื่อรองรับนโยบายการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ที่กำหนดให้ กกพ. ต้องจัดทำระเบียบและหลักเกณฑ์สำหรับ ให้บุคคลที่สามสามารถใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าThird Party Access (TPA) ของระบบส่งและระบบจำหน่าย ให้แล้วเสร็จในปี 2565

แต่เนื่องจากโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในปัจจุบันยังคงเป็นแบบมีผู้ซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว หรือ Enhanced Single Buyer (ESB) สำนักงาน กกพ. จึงได้ จัดทำ (ร่าง) TPA Framework ให้มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในปัจจุบัน และสามารถใช้งานได้ เมื่อมีนโยบายการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างกิจการไฟฟ้าแทน

- Advertisment -

และตาม TPA Framework ดังนั้นจึงกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตระบบโครงข่ายไฟฟ้าจะต้องประกาศข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code : TPA Code) โดยผู้รับใบอนุญาตระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มีระบบส่งไฟฟ้าและระบบจำหน่าย ที่ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบันจะต้องยื่น TPA Codeต่อ กกพ. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการประกาศใช้ภายใน 180 วัน หลังจากที่ TPA Framework ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ส่วนผู้รับใบอนุญาตระบบโครงข่ายไฟฟ้ารายใหม่ ต้องดำเนินการยื่น TPA Code ต่อ กกพ. ภายในระยะเวลา 180 วัน หลังจากการทดสอบระบบก่อนเริ่มดำเนินงานจริง

อย่างไรก็ตาม TPA Code ที่ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.), การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จัดทำขึ้นตาม TPA Framework ฉบับนี้ จะต้องระบุขอบเขตทางกายภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ TPA Code ฉบับนั้นมีผลบังคับใช้ และต้องเป็นไปตาม Grid Code ของการไฟฟ้า นอกจากนี้ในการจัดสรรศักยภาพในการให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า, การบริหารปริมาณไฟฟ้า, การคำนวณค่าบริการ และการกำหนดรายละเอียดคุณภาพไฟฟ้า ผู้ให้บริการอาจแบ่งพื้นที่ (Zone) การให้บริการได้ โดยจะต้องระบุและอธิบาย ถึงเหตุผลของการแยกพื้นที่การให้บริการดังกล่าวไว้ใน TPA Code ด้วย

สำหรับการจองระบบโครงข่ายไฟฟ้า ผู้ใช้บริการจะต้องยื่นความประสงค์ไปยังผู้ให้บริการและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ผู้ให้บริการกำหนดใน TPA Code กรณีที่ผู้ใช้บริการไม่ได้ใช้ศักยภาพภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด ผู้ให้บริการสามารถนำศักยภาพนั้นไปจัดสรรให้ผู้ใช้บริการรายอื่นได้

ส่วนการจัดสรรศักยภาพในการให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ยังเหลืออยู่หรือ Available Transfer Capacity (ATC) ต้องใช้หลัก First-Come-First-Served Basis โดยมีแนวทางดังนี้ 1. ต้องให้บริการการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายก่อน เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในอนาคต 2. ต้องจัดสรรให้แก่ผู้ใช้บริการตามลำดับที่ได้รับคำขอใช้บริการที่มีข้อมูลครบถ้วน โดยจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงในระบบโครงข่ายไฟฟ้าเป็นสำคัญ 3. ในกรณีระบบโครงข่ายไฟฟ้าคงเหลือน้อยกว่าปริมาณที่ขอใช้ จะจัดสรรให้ตามเฉพาะส่วนคงเหลือเท่านั้น 4. ผู้ใช้บริการต้องยื่นหลักฐานการชำระค่าบริการทั้งหมดที่ได้รับการจัดสรร ซึ่งรวมถึงการวางเงินมัดจำก่อนที่จะอนุมัติจัดสรรระบบโครงข่ายไฟฟ้า 5) ผู้ให้บริการสามารถใช้วิธีการจัดสรรอื่นๆ ในอนาคต เช่น การประมูล หากผู้ใช้บริการมีจำนวนมากขึ้นจนสมควรมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดสรร เป็นต้น

ด้านการบริหารปริมาณไฟฟ้านั้น ผู้ใช้บริการมีหน้าที่ในการบริหารปริมาณไฟฟ้าและรักษาสมดุลระหว่างปริมาณนำเข้าและส่งออกไฟฟ้าของตนที่ส่งเข้าระบบ โดยจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงในระบบไฟฟ้าเป็นสำคัญ หากไฟฟ้าที่เข้าและออกไม่สมดุลผู้ใช้บริการจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาสมดุลด้วย ส่วนในกรณีฉุกเฉินผู้ให้บริการมีสิทธิ์จำกัดปริมาณไฟฟ้าที่จะส่งเข้าและออกระบบได้เอง

ส่วนค่าบริการการใช้ระบบส่งไฟฟ้านั้น กรณีที่ยังไม่เคยมีการกำหนดค่าบริการภายใต้ TPA Code ผู้ให้บริการจะต้องเสนอค่าบริการสำหรับการให้บริการนั้นต่อ กกพ. เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนการประกาศใช้ ซึ่งควรสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง และคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมในการลงทุนของการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ

Advertisment