กกพ.เร่งโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ภายในปี 64 พร้อมดึงกลุ่ม Prosumer อยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน

1602
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จัดสัมมนา “ภาพอนาคตอัตราค่าไฟฟ้าไทย (Thailand Electricity Tariff Outlook ) เพื่อเตรียมปรับโครงสร้างระบบไฟฟ้าครั้งใหญ่ของประเทศ ให้รองรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหม่ ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ให้อยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน คาดมีความชัดเจนเร็วสุดภายในปี 2564

เสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกกพ.

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยในงานสัมมนา “ภาพอนาคตอัตราค่าไฟฟ้าไทย (Thailand Electricity Tariff Outlook )”ว่า ปัจจุบันโครงสร้างกิจการไฟฟ้าของไทยเป็นแบบผู้ซื้อรายเดียว (Enhanced Single Buyer) คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตและขายส่งไฟฟ้าให้กับผู้ขายปลีก 2 รายคือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และ กฟผ.ยังเป็นผู้ควบคุมระบบส่งไฟฟ้าด้วย ซึ่งโครงสร้างแบบนี้ จำเป็นที่ กกพ.จะต้องมีเครื่องมือที่ทำให้ค่าไฟฟ้ามีความเหมาะสมกับต้นทุน เพื่อส่งสัญญาณที่จะทำให้ประเทศมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม ไม่สร้างภาระให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ามากเกินไป และข้อมูลที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ กกพ.จะนำไปพิจารณา กฎ กติกาในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศทั้งระบบต่อไป

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ.

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะ โฆษก กกพ. กล่าวว่า กกพ. เตรียมปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าครั้งใหญ่ ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวจะรวมถึงค่าไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ด้วย เนื่องจากปัจจุบันการซื้อขายไฟฟ้าของไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยผู้ใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายไฟฟ้าเข้าระบบ รวมถึงการผลิตและขายให้เพื่อนบ้านได้ด้วย ดังนั้นโครงสร้างไฟฟ้าในประเทศที่เป็นระบบผู้ซื้อรายเดียว (Enhanced Single Buyer) จะไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

- Advertisment -

ทั้งนี้ กกพ.จะประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกกฎ กติกา สำหรับการผลิตและซื้อขายไฟฟ้าทุกรูปแบบ เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ในกติกาเดียวกัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดกรณีต่างคนต่างผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่ก็ยังพึ่งพิงระบบไฟฟ้าหลักของการไฟฟ้า กรณีไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในบางช่วงเวลา ทำให้เป็นภาระของการไฟฟ้าที่ต้องสำรองไฟฟ้าเผื่อไว้ให้ จนกลายเป็นการเพิ่มภาระค่าไฟฟ้าให้ผู้บริโภครายอื่นที่เป็นเพียงผู้ใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม กกพ. เห็นว่า ภาครัฐจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะกำหนดโครงสร้างระบบไฟฟ้าของประเทศในอนาคตอย่างไร เช่น จะเปิดเสรีไฟฟ้าในประเทศหรือไม่ และเปิดระดับใด ซึ่งสามารถศึกษาได้จากตัวอย่างระบบไฟฟ้าของประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำเข้าพลังงานถึง 100% จึงใช้ระบบแข่งขันในการซื้อขายไฟฟ้าทั้งหมด ขณะที่บางประเทศมีแหล่งทรัพยากรพลังงานของตัวเอง ก็จะเปิดแข่งขันซื้อขายไฟฟ้าบางส่วน เช่น มาเลเซียและอังกฤษ เป็นต้น โดยในส่วนของไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของตัวเอง ดังนั้นการจะเปิดประมูลแข่งขันซื้อขายไฟฟ้าทั้งหมดคงไม่เหมาะสม

โดยแนวทางหนึ่งที่เหมาะสมกับประเทศไทย คือ การแบ่งระบบผลิตไฟฟ้าเป็น 2 ส่วนคือ 1.โรงไฟฟ้าพื้นฐาน เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทย ซึ่งอาจจะต้องมีการประมูลแข่งขันให้ได้ราคาค่าไฟฟ้าที่ต่ำที่สุด และ 2.โรงไฟฟ้าที่รองรับความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ซึ่งควรต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่สามารถเดินเครื่องขึ้นมาได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อรองรับพีคไฟฟ้าช่วงสั้น

อย่างไรก็ตาม กกพ.จะเร่งปรับโครงสร้างระบบไฟฟ้าครั้งใหญ่ เพื่อรองรับรูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปให้เร็วที่สุดภายในปี 2564 โดยหากมีนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐ กกพ.ก็พร้อมออกกติกาการซื้อขายไฟฟ้าให้ครอบคลุมผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมร่วมกันต่อไป

Advertisment