กกพ.เริ่มใช้ค่าไฟฟ้า 2.9162 บาทต่อหน่วย สำหรับ กฟน.และ PEA ขายให้ปั๊มชาร์จรถ EV สาธารณะ มีผลตั้งแต่ มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป

1408
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เริ่มใช้อัตราค่าไฟฟ้าใหม่สำหรับปั๊มชาร์จรถ EV ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายขายให้กับปั๊มชาร์จคือ 2.9162 บาทต่อหน่วย รวมกับค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ปรับทุก 4 เดือน และค่าบริการรายเดือนอีก 312.24 บาทต่อรายต่อเดือน ย้ำใช้เฉพาะปั๊มชาร์จรถ EV สาธารณะที่มีใบอนุญาตจำหน่ายเท่านั้น ส่วนสถานีชาร์จรถ EV อื่นๆ ต้องใช้อัตราเดียวกับค่าไฟฟ้าบ้านซึ่งมีราคาแพงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกัน  

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center- ENC) รายงานว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เริ่มใช้อัตราค่าไฟฟ้าใหม่ สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือ ปั๊มชาร์จรถ EV  ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. 2566 หลังจากเปิดรับฟังความเห็นประชาชนมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา  

โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ขายให้กับปั๊มชาร์จรถ EV คือ  2.9162 บาทต่อหน่วย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จำหน่ายอยู่ 2.6369 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้เป็นไปตามมติคณะกรรมการ(บอร์ด) กกพ. เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา

- Advertisment -

นอกจากค่าไฟฟ้า 2.9162 บาทต่อหน่วยแล้ว ยังต้องรวมกับค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ประกาศปรับทุก 4 เดือน (ปัจจุบัน Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 อยู่ที่ 91.19 สตางค์ต่อหน่วย) หรือคิดรวมประมาณ 3.8 บาทต่อหน่วย และรวมกับค่าบริการรายเดือนอีก 312.24 บาทต่อรายต่อเดือนด้วย

อย่างไรก็ตามอัตราดังกล่าวจะใช้เฉพาะปั๊มชาร์จรถ EV ที่เปิดจำหน่ายแบบสาธารณะ ซึ่งได้ขอใบอนุญาตจำหน่ายและเชื่อมต่อระบบกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายไว้เท่านั้น ซึ่งถือเป็นอัตราตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนการใช้รถ EV ในประเทศ  ส่วนปั๊มชาร์จรถ EV อื่นๆ จได้รับค่าไฟฟ้าตามอัตราค่าไฟฟ้าบ้านเรือน (ค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. 2566 อยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย) รวมค่าบริการรายเดือนประมาณ 24.62 บาทต่อรายต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่แพงกว่าปั๊มชาร์จ EV แน่นอน

ทั้งนี้ค่าไฟฟ้าปั๊มชาร์จรถ EV ที่ 2.9162 บาทต่อหน่วย จะต้องปรับปรุงในอนาคต หากการใช้รถ EV ในประเทศมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง กกพ.จะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

สำหรับที่มาของการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับปั๊มชาร์จรถ EV เกิดจาก ที่ผ่านมา กกพ. ได้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) แบบ Low Priority ซึ่งหมายถึงการใช้ไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ถูกจัดให้เป็นความสำคัญระดับรอง โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถเข้าควบคุม ปรับลด หรือตัดการใช้ไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้เมื่อมีข้อจำกัดของระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชนทั่วไป และรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าประเทศ

โดยที่ผ่านมา กกพ. ได้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Low Priority หรือเรียกว่า “อัตรา EV Low Priority” ที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย รวมกับค่าบริการรายเดือนอีก 312.24 บาทต่อรายต่อเดือน ซึ่งราคาดังกล่าวถือเป็นราคาขายปลีกไฟฟ้าให้สถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อนำไปจำหน่ายปลีกในราคาที่แตกต่างกันไปของแต่ละสถานีฯ อีกที ทั้งนี้ “อัตรา EV Low Priority” ที่ 2.6369 บาทต่อหน่วยดังกล่าว ถูกใช้มาตั้งแต่ เม.ย. 2564 จนปัจจุบันครบกำหนด 2 ปีแล้ว ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่19 มี.ค. 2563 ที่กำหนดว่าให้ใช้อัตราดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี หรือจนกว่าจะมีการประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ 

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน กกพ.ได้มีการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ปี 2565-2568 แล้ว ประกอบกับ “อัตรา EV Low Priority” ที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย ถูกใช้มาครบ 2 ปีแล้ว ดังนั้นการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจึงขอให้ กกพ.ทบทวน  “EV Low Priority” ใหม่ ให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนค่าซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยของ กฟน. และ PEA ที่ซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ทั้งนี้จากการทบทวนอัตรา EV Low Priority ของคณะกรรมการ(บอร์ด) กกพ. เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ได้เห็นชอบกำหนดอัตราใหม่ที่ 2.9162 บาทต่อหน่วย สำหรับทุกแรงดัน รวมกับค่าบริการรายเดือนอีก 312.24 บาทต่อรายต่อเดือน

Advertisment