คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดรับฟังความเห็นร่างประกาศ “แนวปฏิบัติทางธุรกิจ (Code of Conduct) สำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ พ.ศ….” ไปจนถึง 3 ก.ค. 2564 นี้ โดยเน้นแนวทางการจัดหาและค้าส่งก๊าซฯให้ลูกค้าได้ตามสัญญา มีมาตรฐานคุณภาพ ตามที่ กกพ.กำหนด มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และร่วมดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เมื่อได้รับการร้องขอ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า กกพ.ได้มีการเปิดรับฟังความเห็น ร่างประกาศ “แนวปฏิบัติทางธุรกิจ (Code of Conduct) สำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ พ.ศ….” ผ่านทางเว็บไซต์ของ กกพ. www.erc.or.th มาตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.2564 แล้ว และจะเปิดรับฟังความเห็นไปจนถึงวันที่ 3 ก.ค. 2564 นี้ รวมระยะเวลา 16 วัน ซึ่งประกาศดังกล่าวจะใช้เป็นมาตรฐานการปฏิบัติสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ทุกราย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน ,ไม่ให้เกิดปัญหาการกีดกันทางการค้า และเพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศฯ กำหนดให้ Shipper ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบ 4 ด้าน ได้แก่ 1.จัดหาและค้าส่งก๊าซฯให้ลูกค้าตามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ 2.ต้องให้บริการตามมาตรฐานคุณภาพการให้บริการที่ กกพ.กำหนด 3.ต้องจัดทำระบบสารสนเทศและช่องทางสื่อสาร เพื่อเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างโปร่งใส และจัดทำรายงานสรุปการใช้ระบบสารสนเทศและช่องทางการสื่อสารประจำปี และ 4.จัดทำรายงานผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ตามที่ กกพ.กำหนด
นอกจากนี้ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจที่ Shipper จะต้องดำเนินการ 7 ข้อ ได้แก่ 1. Shipper ต้องจัดหาก๊าซฯให้พอต่อความต้องการของลูกค้าตามข้อตกลงในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ 2. ต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่กีดกันหรือร่วมมือกับบุคคลอื่นกีดกันหรือขัดขวาง 3.Shipper ต้องบริหารจัดการเพื่อความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม 4. Shipper ต้องดำเนินการใดๆ เพื่อดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เมื่อได้รับการร้องขอ
5.Shipper ต้องเก็บรักษาข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าของลูกค้าอย่างเคร่งครัด และไม่เปิดเผยข้อมูลความลับต่อผู้ไม่เกี่ยวข้องและไม่นำข้อมูลไปใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ รวมทั้งต้องกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลด้วย
6.Shipper ต้องเปิดเผยข้อมูลคุณภาพการให้บริการและสภาพการประกอบกิจการพลังงาน รวมถึงรายงานข้อมูลต่อหน่วยงานภาครัฐด้วยข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และ 7.ต้องจัดให้มีระบบการตรวจสอบทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งจัดให้มีมาตรการและกลไกเพื่อป้องกันและขจัดผลประโยชน์ทับซ้อน
อย่างไรก็ตาม Shipper จะต้องทบทวนแนวปฏิบัติทางธุรกิจดังกล่าวทุกๆ 5 ปี หรือตามที่ กกพ.กำหนดต่อไป ทั้งนี้ร่างฯประกาศ ดังกล่าวจะมีผลในทางปฏิบัติในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับ การจัดทำร่างประกาศ Code of Conduct ของ กกพ. ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย 64 ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันยังไม่มี Shipper รายใหม่ที่นำเข้าก๊าซฯ มาใช้ได้ เนื่องจากยังต้องรอประกาศแนวทางปฏิบัติ จาก กกพ.และต้องรอให้กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทำการสำรวจปริมาณการผลิตและการใช้ก๊าซฯ ในประเทศให้เสร็จก่อน เพื่อจะได้ทราบว่า ยังมีปริมาณก๊าซฯ ที่ Shipper สามารถนำเข้ามาในประเทศได้เท่าไหร่
ที่ผ่านมา กกพ.ได้พิจารณาให้ใบอนุญาตการเป็น Shipper แก่ผู้ประกอบการแล้ว 6 ราย ได้แก่
- บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
- บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด
- บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด
- บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก
ส่วนที่ยังไม่ผ่านการพิจารณามี 2 ราย ได้แก่ กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG และ บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL