กกพ.เปิดทางShipperแข่งนำเข้า LNG ปี65 ปริมาณ 2.7 ล้านตัน ที่ส่งผ่านต้นทุนไปค่าเอฟทีได้

945
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมออกประกาศ “หลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ (Energy Pool Price: EPP) ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ” เปิด Shipper การแข่งขันนำเข้า LNG เข้าระบบPool ที่สามารถส่งผ่านต้นทุนไปที่ค่าไฟฟ้าเอฟทีให้ประชาชนช่วยรับภาระแทนได้ หลังจากโควต้าปี2565 ที่ออกตามนโยบายเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ ไม่มี Shipper รายใดแจ้งขอนำเข้า เพราะต้องรับความเสี่ยงจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้นไว้เอง

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy​ News Center- ENC​ )​ รายงานว่า นโยบายเปิดเสรีธุรกิจก๊าซของภาครัฐที่หวังจะให้เอกชนซึ่งได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซ (Shipper)​ จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)​ ออกนอกระบบPool Gas เพื่อนำเข้าLNGมาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเองและแบกรับความเสี่ยงจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงเอง ยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยโควต้าที่เปิดให้นำเข้าสำหรับปี 2564 และ2565 ยังไม่มีShipper​รายใดแจ้งขอนำเข้า เนื่องจาก ราคา LNG นำเข้า อยู่ในระดับที่สูงกว่าที่ซื้อจากระบบPool Gas ของ ปตท. อย่างไรก็ตามก็มีความพยายามจากภาครัฐที่จะให้ Shipper ดังกล่าวมีการแข่งขันจัดหาLNGเข้าระบบPool Gas ที่สามารถทำให้Shipperมีมาร์จินจากการจัดหาและส่งผ่านต้นทุนไปให้ผู้ใช้ไฟฟ้าช่วยรับภาระแทนในส่วนค่าเอฟทีของค่าไฟฟ้าได้

โดย แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมออกประกาศ “หลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ (Energy Pool Price: EPP) ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ” ที่ล่าสุดได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้

- Advertisment -

โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเปิดทางให้ Shipper รายใหม่ สามารถนำเข้าก๊าซ LNG จากแหล่งใดก็ได้เพื่อมาผลิตไฟฟ้าที่สามารถนำราคา LNG มาหารเฉลี่ยในราคา Pool Gas ให้กลายเป็นราคาเฉลี่ยต้นทุนเชื้อเพลิง EPP ได้ ซึ่งวิธีการนี้จะส่งผลให้ Shipper เกิดการแข่งขันนำเข้า LNG โดยที่ กกพ.จะเป็นผู้เลือกซื้อ LNG จาก Shipper ที่เสนอราคาต่ำที่สุดก่อนไล่เรียงตามลำดับ

ทั้งนี้ปริมาณที่จะเปิดให้แข่งขันนำเข้าตามประกาศจะเป็นปริมาณตามโควต้าปี65 ภายใต้นโยบายเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ซึ่งจะเป็นส่วนที่เพิ่มเติมจากสัญญานำเข้า LNG ระยะยาวของ ปตท. ปริมาณรวม 4.5 ล้านตัน ที่เหลืออยู่ 2.7 ล้านตัน เนื่องจาก ปริมาณ 1.8 ล้านตันแรก นั้นรัฐอนุมัติให้ปตท.เป็นผู้นำเข้าเพื่อทดแทนก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณที่ไม่สามารถผลิตก๊าซได้ครบ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญาไปแล้ว

โดยแนวทางการเปิดให้ Shipper แข่งขันราคาเพื่อขายเข้าระบบPool นั้น จะเป็นวิธีที่แตกต่างจากการจัดการโควต้าปี64 ที่ไม่มี Shipper รายใดขอนำเข้าเช่นเดียวกัน ซึ่งในช่วงนั้น กกพ.ใช้วิธีแบ่งส่วนให้ปตท.และ กฟผ. เป็นผู้นำเข้าและส่งผ่านต้นทุนไปที่ค่าเอฟที

สำหรับ Shipper รายใหม่ มีอยู่ทั้งหมด 7 ราย ได้แก่

  1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
  2. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
  3. บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด
  4. บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด
  5. บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก
  6. บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL
  7. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG
Advertisment