กกพ.เตรียมออกประกาศซื้อไฟฟ้าจากSPPขยะในอีก1-2เดือนกำหนดอัตราFiTที่3.66บาทต่อหน่วย

3498
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะในรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ภายใน 1-2 เดือนนี้  ในอัตราเงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FIT) ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย โดยเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้ทั้งในพื้นที่รัฐและเอกชน ส่วนโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Quick Win Projects) จำนวน 12 โครงการ กำลังผลิต 77.9 เมกะวัตต์ กำหนดให้ยื่นข้อเสนอโครงการในเดือนมี.ค.2562 นี้

น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.เตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเพิ่มเติม โดยต้องดูรายละเอียดในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศพ.ศ. 2561-2580 (PDP2018)ก่อน  ที่มีมติขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนอีก 400 เมกะวัตต์ ในปี2580 จากแผนPDPเดิม ที่กำหนดรับซื้อ 500 เมกะวัตต์ ในปี2579 และรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมอีก 44  เมกะวัตต์ จากแผนPDPเดิม กำหนดรับซื้อ 50 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ กกพ.จะต้องนำมาพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดว่าใน400 เมกะวัตต์ที่เพิ่มขึ้นมาจากเดิมนั้นจะแบ่งเป็นการรับซื้อในรูปแบบของโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP) และโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก(VSPP) ในปริมาณเท่าไหร่ และจะเริ่มทยอยเปิดโครงการรับซื้ออย่างไร

- Advertisment -

โดย กกพ.คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ จะสามารถออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน ในรูปแบบ SPP หรือ มีกำลังผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ได้ ซึ่งจะเป็นการรับซื้อไฟฟ้าตามสัดส่วนในแผนPDPเดิม และเบื้องต้น โครงการนี้จะได้รับอัตราเงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง(FIT) อยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ภายใต้สัญญาซื้อไฟฟ้า 20-25 ปี ส่วนการกำหนดพื้นที่รับซื้อไฟฟ้าและปริมาณการรับซื้อตามโครงการนี้ ยังต้องรอรายละเอียดจากระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานก่อน ซึ่งเบื้องต้นในส่วนของพื้นที่ที่มีศักยภาพจะดำเนินการในรูปแบบโรงไฟฟ้าSPPได้นั้น จะมีทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น พื้นที่อ่อนนุช หนองแขม และจ.นนทบุรี เป็นต้น โดยโรงไฟฟ้าขยะ หลังจากออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าแล้ว จะมีขั้นตอนดำเนินโครงการและก่อสร้างเสร็จต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี จึงจะผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์(COD) ได้

“มติ กพช.ที่เห็นชอบให้เอกชนสามารถเสนอตั้งโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในพื้นที่ของตัวเองหรือพื้นที่อื่นๆที่มีความเหมาะสมได้ จากเดิมที่ อนุญาตให้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ก็เพื่อรองรับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะในรูปแบบ SPP ” น.ส.นฤภัทร กล่าว

สำหรับโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(Quick Win Projects) จำนวน 12 โครงการ กำลังผลิต 77.9 เมกะวัตต์ ที่กำหนดให้ยื่นข้อเสนอโครงการในเดือนมี.ค.2562 นี้ จะยังเป็นไปตามกำหนดการเดิม ซึ่งจะมีการพิจารณาขยายระยะเวลาออกไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งขณะนี้มีหลายโครงการทยอยยื่นข้อเสนอมาแล้ว และผ่านการอนุมัติแล้ว 2 โครงการ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 10.4 เมกะวัตต์ คือ บริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด(จ.หนองคาย) มีกำลังผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และเสนอขายไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์ และอีกโครงการ คือ บริษัท อัลไลแอนซ์ คลีนเพาเวอร์ จำกัด (จ.กระบี่) มีกำลังผลิตติดตั้ง 5 เมกะวัตต์ และเสนอขายไฟฟ้า 4.4 เมกะวัตต์

Advertisment