ในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะได้เห็นสังคม Prosumer หรือ สังคมที่ประชาชนผันตัวเองมาเป็นทั้งผู้ซื้อและ ผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบ หรือขายให้กับเพื่อนบ้านของตัวเอง โดยผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้า ด้วยการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาครัวเรือนหรืออาคาร หรือ โซลาร์รูฟท็อป เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง และอาจต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่พวกเขาเคยซื้อใช้
การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ทำให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลคือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องเตรียมมาตรการรองรับการผลิตและการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ ซึ่งขณะนี้ กกพ. อยู่ระหว่างจัดทำระเบียบและกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เอาไว้รองรับการซื้อขายไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเข้าระบบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ตั้งแต่การกำหนดอัตราค่าเช่าสายส่ง (wheeling charge) กำหนดกฎระเบียบและกติกากำกับดูแลการซื้อขายไฟฟ้าที่เหมาะสม รวมถึง กำหนดค่าไฟฟ้าให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้พลังงานที่เปลี่ยนไป และการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในปี 2561 (ม.ค.-พ.ย.61) ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของไทยเพิ่มขึ้นในทุกสาขา โดยภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.2% ภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 3.0% ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 0.1% ขณะที่ความต้องการใช้ ไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้า อยู่ที่ 29,968 เมกะวัตต์ ณ วันที่ 24 เม.ย. 2561 ลดลง 1.1% เมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 4 พ.ค. 2560 ซึ่งอยู่ที่ 30,303 เมกะวัตต์ โดยการใช้ไฟฟ้าในระบบของ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 172,709 กิกะวัตต์-ชั่วโมง
เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บวกกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้ กกพ. จำเป็นต้องสร้างความสมดุลให้กับภาคพลังงานของประเทศ รวมถึงสร้างความเป็นธรรมและยกระดับการให้บริการให้แก่ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงาน โดย กกพ. จะจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2018) ซึ่งคาดว่าโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่จะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีและเริ่มใช้ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 อีกทั้งมีแผนจะทบทวนมาตรฐานสัญญาให้บริการไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยอีกครั้ง ในปี 2562 นี้ หลังการออกมาตรฐานสัญญาให้บริการไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยครั้งล่าสุดไปเมื่อช่วงต้นปี 2559 และมาตรฐานสัญญาดังกล่าวถูกใช้มาใกล้ครบ 3 ปีแล้ว ซึ่งการทบทวนครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ให้การคุ้มครองผู้ใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพและมีความเป็นธรรมมากขึ้น
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย (ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก) กว่า 20 ล้านรายทั่วประเทศ ซึ่ง สำนักงาน กกพ. มีหน้าที่ดูแลให้เกิดความเป็นธรรมตั้งแต่ระดับสัญญาการให้บริการไฟฟ้าที่ประชาชนทำไว้กับ 3 ผู้ให้บริการไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ (พื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี) โดยสำนักงาน กกพ. ได้เริ่มปรับปรุงมาตรฐานสัญญาให้บริการไฟฟ้าครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2559 และบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ มาตรฐานสัญญาให้บริการไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้รายย่อยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีสาระสำคัญ ได้แก่
- การกำหนดระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้า ต้องไม่น้อยกว่า 10 วัน นับจากวันที่ลงในใบแจ้งค่าไฟฟ้า หลังจากนั้นหากยังไม่มีการชำระ การไฟฟ้าต้องมีหนังสือแจ้งเตือนอย่างน้อย 5 วัน จึงจะงดจ่ายไฟฟ้าได้ ผู้ใช้ไฟฟ้าจะเสียค่าธรรมเนียมตัด-ต่อกระแสไฟฟ้าต่อเมื่อมีการงดจ่ายไฟฟ้าแล้วเท่านั้น รวมทั้งการต่อไฟฟ้าคืนจะต้องดำเนินการทันทีภายใน 24 ชั่วโมง
- สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อรักษาพยาบาล สามารถขอขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าได้
- กรณีมิเตอร์มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทำให้เรียกเก็บค่าไฟฟ้าต่ำกว่าจริง และหากจะปรับปรุงยอดเพื่อเรียกเก็บภายหลัง จะเรียกเก็บย้อนหลังได้ไม่เกิน 3 ปี ซึ่งดีกว่าสัญญาเดิมที่เรียกเก็บตามความเป็นจริง ซึ่งอาจย้อนหลังเกิน 5 ปี
- การไฟฟ้าต้องจ่ายดอกผลจากการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าทุก 5 ปี ในรูปแบบการหักลดค่าไฟฟ้า โดยเริ่มคิดดอกผลให้แล้วตั้งแต่ปี 2558 และจะเริ่มจ่ายคืนครั้งแรกในรอบบิลไฟฟ้าเดือน ก.พ. 2563
- การจัดส่งใบแจ้งค่าไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถแจ้งให้ส่ง ณ สถานที่อื่นๆ เพิ่มเติมตามที่ตกลงได้ นอกเหนือจากส่งไปยังสถานที่ใช้ไฟฟ้า
- การไฟฟ้าต้องตรวจสอบมิเตอร์ทุก 3 ปี ให้เกิดความเที่ยงตรงด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ. ยังมีหน้าที่ต้องดูแลให้ความเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ (ประเภท 3 กิจการขนาดกลางประเภท 4 กิจการขนาดใหญ่ และประเภท 5 กิจการเฉพาะอย่าง) ที่มีกว่า 120,000 รายทั่วประเทศ จึงได้ออกมาตรฐานสัญญาให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่และมีผลบังคับใช้ล่าสุดไปเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา สาระสำคัญ ได้แก่
- การกำหนดระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้าต้องไม่น้อยกว่า 15 วัน นับจากวันที่ลงในใบแจ้งค่าไฟฟ้า หลังจากนั้นหากยังไม่ชำระให้มีหนังสือแจ้งเตือนอย่างน้อย 5 วัน จึงจะงดจ่ายไฟฟ้าได้ และผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเสียค่าธรรมเนียมตัดต่อกระแสไฟฟ้าต่อเมื่อมีการงดจ่ายไฟฟ้าแล้วเท่านั้น การต่อไฟฟ้าคืนต้องดำเนินการภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อชำระค่าไฟฟ้าแล้ว ยกเว้นกรณีงดจ่ายไฟฟ้านานเกิน 15 วัน
- หากผู้ใช้ไฟฟ้าผิดนัดชำระค่าไฟฟ้า การไฟฟ้ามีสิทธิคิดดอกเบี้ยของจำนวนเงินที่ค้างชำระได้แต่ต้องไม่เกิน 7.5% ต่อปี
- หากการไฟฟ้าจำเป็นต้องดับไฟเพื่อการปฏิบัติงานต้องแจ้งผู้ใช้ไฟฟ้าล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และต้องหารือกับผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อให้มีผลกระทบต่อกิจการน้อยที่สุด หากมีจะการยกเลิกกำหนดการดับไฟฟ้า ต้องแจ้งผู้ใช้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมงก่อนถึงวันกำหนดดับไฟฟ้า
- กรณีมิเตอร์คลาดเคลื่อน เป็นเหตุให้เก็บค่าไฟฟ้าได้ต่ำกว่าความจริงนั้น ปกติมิเตอร์จะตรวจทุก 1-2 ปี ให้เรียกเก็บย้อนหลังได้ไม่เกิน 1-2 ปีที่ตรวจพบ และหากกรณีเก็บเงินเกินกว่าการใช้ไฟฟ้าจริง ต้องคืนเงินภายใน 30 วันนับจากวันที่แจ้งให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบ เป็นต้น
การประกาศใช้มาตรฐานสัญญาให้บริการไฟฟ้าทั้งรายย่อยและรายใหญ่ดังกล่าว เป็นการปรับปรุงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งกับผู้จำหน่ายไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้า และลดข้อพิพาทระหว่างกัน ซึ่งในส่วนผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย จะมีการ ปรับปรุงมาตรฐานอีกครั้งในปี 2562 นี้ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่จะปรับปรุงต่อไปตามระยะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากเพิ่งเริ่มประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวเมื่อปลายปี 2561 ที่เพิ่งผ่านมานี้เอง และในอนาคต สำนักงาน กกพ. ยังจำเป็นต้องปรับปรุงมาตรฐานสัญญาไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและลักษณะการใช้งานไฟฟ้าในอนาคต ด้วย