กกพ. เดินหน้า เตรียมส่งหนังสือถึงภาครัฐภายใน ม.ค. 2568 นี้ หวังให้ทบทวนโครงการ Adder เชื่อลดค่าไฟฟ้าลงได้ 17 สตางค์ต่อหน่วย

232
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยืนยัน จะส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีพลังงานและ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือน ม.ค. 2568 นี้ เสนอให้ทบทวนเงื่อนไขสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP ที่ได้รับเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) เหตุกลุ่มนี้คุ้มทุนและได้ค่าตอบแทนนานพอสมควรแล้ว ปัจจุบันต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลง แต่รัฐยังสนับสนุนในอัตราสูง ส่งผลกระทบค่าไฟฟ้าโดยรวม ชี้หากปรับเงื่อนไขได้ จะช่วยลดค่าไฟฟ้าประชาชนลงได้ 17 สตางค์ต่อหน่วย หรือประหยัดได้ 33,150 ล้านบาท

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)  ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือน ม.ค. 2568 นี้ เพื่อเสนอทางเลือกให้ภาครัฐทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไข การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าทั้งในรูปแบบ “การให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder)” และ “การสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT)” ของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุนสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ค่าไฟฟ้าสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณ 17 สตางค์ต่อหน่วย จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย

“นโยบายเกี่ยวกับการลดค่าไฟฟ้านั้น ทาง กกพ. เห็นว่าควรหารือกับทุกฝ่าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ใครเสียเปรียบใคร แต่เวลานี้ต้องหยิบเรื่องทั้งหมดขึ้นมามอง กกพ. เป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งที่พยายามนำเสนอมุมมองเพื่อให้ภาครัฐได้คิดทบทวนในเรื่องนี้ แต่เรื่องการตัดสินใจและนำไปสู่การปฏิบัติ เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายที่ต้องหารือให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย”

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามหากมีการเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเกิดขึ้น มองว่าควรเจรจากันบนความเข้าใจที่ตรงกันและเห็นถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เห็นถึงผลประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และหากการเจรจาสามารถตกลงกันได้ถือเป็นเรื่องที่ดีกับประเทศ ไม่ได้เป็นการไปทำลายบรรยากาศความเชื่อมั่นด้านการลงทุนที่ทำกับภาครัฐแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายจะลดค่าไฟฟ้าของประเทศลงให้เหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย เมื่อ 7 ม.ค. 2568 ส่งผลให้ กกพ. ในฐานะผู้กำกับดูแลราคาพลังงาน ได้ตรวจสอบต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะสามารถลดลงได้ และพบว่า มาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าแบบให้ Adder และ FiT ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นภาระค่าไฟฟ้าประชาชนอยู่ 17 สตางค์ต่อหน่วย

โดย เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2568 กกพ.ได้ออกมาแถลงรายละเอียดว่า หากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับค่าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หน่วยละ 8 บาท (10 ปี) รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าอัตรารับซื้อที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คำนวณไว้ในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 และในส่วนเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 หน่วยละ 2.1679 บาท หลายเท่าตัวหรือมีส่วนต่างหน่วยละ 8.9938 บาท หากนำส่วนต่างนี้ออกไปจากสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงทันที และไม่กระทบต่อผู้ประกอบการด้วย 2 เหตุผลคือ

1. ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าผ่านจุดคุ้มทุนแบบ Adder และได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้

 2. การรับซื้อไฟฟ้าในอดีตหน่วยละ 11.1617 บาท เนื่องจากอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วยเช่นกัน หรือแม้โครงการผ่าน 10 ปีและเงินอุดหนุน 8 บาทหมดไปแล้ว แต่ราคารับซื้อก็ยังอยู่ที่ 3.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาที่ สนพ. คำนวณในปี 2565 ไว้ที่หน่วยละ 2.1679 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเป็นเงินหน่วยละ 0.9938 บาท ถือเป็นกำไรที่ผู้ประกอบการไม่ควรได้รับ ประการสำคัญสัญญารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มนี้ระบุว่าให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ หมายความว่า ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา หากไม่มีการปรับปรุงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผู้ประกอบกิจการก็จะได้กำไรเกินควร อันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีวันสิ้นสุด

จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2568 ได้ระบุถึงค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Policy Expense) จากการรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าหน่วยละ 17 สตางค์ หากคณะรัฐมนตรี หรือ กพช. กำหนดนโยบายปรับค่าไฟฟ้ารับซื้อในส่วนนี้ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้ ก็จะลดค่าไฟฟ้าลงได้ทันที่ 17 สตางค์ หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.15 บาท ก็จะลดลงเหลือหน่วยละ 3.89 บาท

จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย หากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์ ก็จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ถึง 33,150 ล้านบาท

Advertisment