กกพ.เคาะค่าไฟ 4.18 บาทต่อหน่วยเท่าเดิม โยนภาระค้างจ่าย กฟผ.และ ปตท. รวมกว่า 1.1 แสนล้านบาทไปงวดค่าไฟปีหน้า

750
- Advertisment-


คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งประชุมอีกครั้งเมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม 2567 เห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที)งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 ที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เท่ากับงวดก่อนหน้า สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรี โดยยังมีภาระหนี้ที่ค้างจ่ายทั้ง กฟผ.และ ปตท. รวมกันประมาณ 1.1 แสนล้านบาทที่ต้องทยอยจ่ายคืนในการคำนวณค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดถัดไป ในปี 2568 

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดแถลงชี้แจงต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ว่า ในการประชุม กกพ.ครั้งที่ 31/2567 เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม 2567 ที่ประชุมได้พิจารณาการประมาณการณ์ค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 ที่ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นคิดสาธารณะใน 3 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 ค่าไฟฟ้าจะปรับขึ้นจาก 4.18 บาทต่อหน่วยเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย หรือปรับขึ้น 11.24% โดย กฟผ.จะได้รับการทยอยคืนหนี้ค้างจ่ายที่เกิดขึ้นจริงจำนวน 16,416 ล้านบาท และคืนภาระต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงให้ทั้ง ปตท.และ กฟผ.อีกจำนวน 15,084 ล้านบาท(ส่วนของ ปตท.ประมาณ 12,000 ล้านบาทและ กฟผ.ประมาณ 3,000ล้านบาท)   

ทางเลือกที่ 2 จะต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย หรือปรับขึ้น 17.73% โดย กฟผ.จะได้รับการทยอยคืนหนี้ค้างจ่ายที่เกิดขึ้นจริงจำนวน 32,832 ล้านบาท และคืนภาระต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงให้ทั้ง ปตท.และ กฟผ.อีกจำนวน 15,084 ล้านบาท  และทางเลือกที่ 3 จะต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 6.01 บาทต่อหน่วยหรือปรับขึ้น 43.79%  โดย กฟผ.จะได้รับการทยอยคืนหนี้ค้างจ่ายที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดจำนวน 98,495 ล้านบาท และคืนภาระต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงให้ทั้ง ปตท.และ กฟผ.อีกจำนวน 15,084 ล้านบาท

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม ทางนายพีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้มีการหารือกับทั้งซีอีโอ ปตท.และผู้ว่าการ กฟผ. และรายงานผลการหารือให้คณะรัฐมนตรีรับทราบว่า ทั้ง ปตท.และ กฟผ.พร้อมที่จะสนับสนุนแนวทางการคงราคาค่าไฟฟ้าเอาไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย  โดยที่ยังไม่ต้องชำระคืนต้นทุนค่าก๊าซ ที่ค้างจ่าย จำนวน  15,084 ล้านบาท ในงวด กันยายน-ธันวาคม 2567 ในขณะที่ กฟผ. ยอมที่จะได้รับคืนหนี้ค้างจ่ายจำนวน 5 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็น จำนวน 3,267 ล้านบาท จึงทำให้ กกพ. เห็นชอบค่าไฟฟ้าเอฟที  งวดกันยายน-ธันวาคม 2567 ได้ที่  39.72 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เท่ากับงวดก่อนหน้า ตามนโยบายได้ และเป็นไปตามมาตรา 64 และ 65 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 

ดร.พูลพัฒน์ กล่าวว่า การคงอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ทำให้ ยังคงมีภาระค้างจ่ายรวม 110,312 ล้านบาท แบ่งเป็น  การค้างจ่ายภาระหนี้ กฟผ.อยู่ที่ 95,228 ล้านบาท และค้างจ่ายต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ ปตท.และ กฟผ.แบกไว้ให้ก่อนอีก 15,084 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มค่าไฟฟ้าเอฟทีในปี 2568 ดร.พูลพัฒน์ กล่าวว่า จะพยายามบริหารจัดการให้ค่าไฟฟ้าไม่เกิน 4.18 บาทต่อหน่วย เท่าเดิม โดยคาดว่า ราคาLNG นำเข้า ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2568 จะต่ำกว่าช่วงปลายปี 2567 ทำให้ สามารถตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ระดับเดิมโดยที่ยังทยอยคืนภาระหนี้ค้างจ่ายให้ ทั้ง กฟผ.และ ปตท.ได้ ซึ่ง ทาง กกพ.จะพิจารณาไม่ให้กระทบต่อเครดิตเรทติ้ง ของ กฟผ.

Screenshot
Advertisment