“กกพ.” เคาะ ลดค่าไฟฟ้าเหลือ 4.45 บาทต่อหน่วย มีผลในบิล ก.ย. 66

489
N4022
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการประชุม ครั้งที่ 34/2566 (ครั้งที่ 862) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที และได้พิจารณากรณีศึกษาการปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 โดยมีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บจำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลดลงจากงวดปัจจุบัน (พฤษภาคม – สิงหาคม 2566) จาก 4.70 บาทต่อหน่วยเหลืออยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย และให้มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายน 2566 รายละเอียดเอกสารเผยแพร่ค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th

ทั้งนี้ การพิจารณาดังกล่าว กกพ. ยึดหลักเกณฑ์ตามประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 และได้พิจารณาประโยชน์ของประเทศ รวมถึงสภาพการแข่งขันและความสามารถในการให้บริการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงการให้บริการระยะยาวประกอบแล้ว

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน​( Energy​ News​ Center-ENC​ )​ รายงานว่า​ ก่อนหน้านี้​ ทางสำนักงาน​ กกพ.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนเในแนวทางการปรับค่าไฟฟ้า​ ตั้งแต่วันที่​ 7-21​ ก.ค.2566​ ใน 3​ ทางเลือกคือ​

- Advertisment -

ทางเลือกที่​ 1​ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับขึ้นเป็น 6.28 บาทต่อหน่วย เพื่อจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมดให้กับ กฟผ. จำนวน 1.35 แสนล้านบาท

ทางเลือกที่​ 2​ ค่าไฟฟ้ายังคงเดิมที่ 4.70 บาทต่อหน่วย โดยทยอยชำระเงินที่ กฟผ. กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 – เม.ย. 2566 จำนวน 3.8 หมื่นล้านบาทเหลือหนี้ที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 9.7 หมื่นล้านบาท

และทางเลือกที่ 3 ปรับลดค่าไฟฟ้าลงเป็น 4.45 บาทต่อหน่วย​ (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวด) ซึ่ง กฟผ.จะได้รับคืนหนี้ 2.3 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2666 และมีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ. 1.11 แสนล้านบาท​ ซึ่งในที่สุด​ ทางเลือกที่ 3 เป็นแนวทางที่​ กกพ.อนุมัติ​ให้ความเห็นชอบ

Advertisment