กกพ.เคาะ 175 รายชื่อผ่านโครงการไฟฟ้าสีเขียว รวม 4,852.26 เมกะวัตต์

4029
- Advertisment-

บอร์ด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ฟันธงโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว ผ่านเพียง 175 ราย จำนวน 4,852.26 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าเป้าหมาย 5,203  เมกะวัตต์ โดยเชื้อเพลิงประเภทโซลาร์ฟาร์ม มีปริมาณเสนอขายสูงสุด 2,368 เมกะวัตต์ ขณะที่เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพไม่มีผู้ผ่านการพิจารณาในครั้งนี้ ส่วนขยะอุตสาหกรรม ผ่าน 13 ราย รวม 100 เมกะวัตต์ บรรลุเป้าหมาย

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในวันที่ 5 เม.ย. 2566 ได้พิจารณาและประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้าร่วม “โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565” หรือ โครงการไฟฟ้าสีเขียว รวมทั้งสิ้น 175 ราย รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 4,852.26 เมกะวัตต์ จากผู้มีสิทธิ์ผ่านเข้าพิจารณาทั้งสิ้น 386 ราย  

โดยแบ่งเป็นประเภท พลังงานลม จำนวน 22 ราย รวม 1,490.20 เมกะวัตต์ ,  พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) มีเฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 24 ราย รวม 994.06 เมกะวัตต์ ,พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) จำนวน 129 ราย รวม 2,368 เมกะวัตต์ ส่วนก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ ของเสีย) ไม่มีผู้ผ่านการพิจารณา

- Advertisment -

สำหรับโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 มีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือก จำนวน 13 ราย ปริมาณเสนอขายรวม 100 เมกะวัตต์ จากการพิจารณาทั้งสิ้น 18 ราย

“การไฟฟ้าฯ จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกทราบและยอบรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายในวันที่ 19 เม.ย. 2566 ต่อไป โดยสำนักงาน กกพ. จะประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการเลือก สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสหกรรม ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th ภายในวันที่ 5 เม.ย. 2566 ต่อไป” นายคมกฤช กล่าว

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า โครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวในครั้งนี้ สามารถรับซื้อไฟฟ้าได้ 4,852.26 เมกะวัตต์ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 5,203  เมกะวัตต์ ซึ่งขาดไปประมาณ 351 เมกะวัตต์ ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่ 100 เมกะวัตต์  อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กกพ.คาดว่าจะเริ่มเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวรอบ 2 ต่อทันที จำนวนปริมาณไฟฟ้า 3,668.5 เมกะวัตต์ หากไม่มีปัญหาใดๆ ในการเปิดรับซื้อรอบแรก

ส่วนการกำหนดราคาไฟฟ้าสีเขียวนั้น ขณะนี้ได้เปิดรับฟังความเห็น “(ร่าง) หลักเกณฑ์ การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff หรือ UGT)” เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปจะต้องนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (บอร์ด กกพ.) โดยบอร์ด กกพ. จะพิจารณาอัตราที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เสนอไว้ ซึ่งจะต้องพิจารณาราคาที่เหมาะสมและเป็นต้นทุนที่แท้จริง ที่ได้รวมค่าใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ไว้แล้ว และจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เพื่อรับทราบต่อไป

ทั้งนี้คาดว่าจะสรุปราคาไฟฟ้าสีเขียวได้กลางปี 2566 นี้ และจะประกาศภายในไตรมาส 3 หรือภายในเดือน ก.ค.-ก.ย.2566 ซึ่ง กกพ.จะต้องเร่งดำเนินการเนื่องจากต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งผู้ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวส่วนใหญ่จะต้องการโรงไฟฟ้าใหม่และมีสัญญาการจองซื้อไฟฟ้าสีเขียวระยะยาวเป็นหลัก

ส่วนหลักเกณฑ์อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวนั้น กกพ.จะยึดตามหลักเกณฑ์ที่เสนอเข้า กพช.ไปแล้ว ซึ่งแบ่งเป็น  2 รูปแบบคือ 1.แบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องการเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT1) และ 2. แบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องการเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT2)

โดยรูปแบบแรก UGT1 (ไม่เจาะจงที่มา) เป็นการให้บริการเกี่ยวกับใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC) ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ จึงเป็นอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามบิลค่าไฟปกติ โดยผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถสมัครขอรับบริการในปริมาณต่ำกว่า 1 REC ได้ (1 REC = 1,000 หน่วย) และมีระยะเวลาการขอรับบริการสั้น (0-1 ปี)

รูปแบบที่สอง UGT2 (เจาะจงที่มา) เป็นการเปิดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้ไฟมากและต้องการขับเคลื่อนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าเข้ามารับภาระการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ โดยมีสัญญาการรับบริการนาน (10-25 ปี) และมีการออกแบบโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากมีการซื้อพลังงานไฟฟ้าพร้อม REC จากแหล่งพลังงานแบบเจาะจงที่มาในระยะยาว เข้ามาแทนพลังงานไฟฟ้าเดิม และมีการให้บริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

ทั้งนี้คาดว่านักลงทุนต้องการอัตราค่าไฟฟ้าแบบ UGT2 ที่เป็นการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนใหม่ และมีสัญญาการซื้อไฟฟ้าระยะยาว เนื่องจากสามารถยืนยันเรื่องไฟฟ้าสะอาดและเป็นมาตรฐานสากลได้ดีกว่า ซึ่งตามกำหนดเวลาของการจัดทำอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวที่จะประกาศได้ภายในไตรมาส 3 ของปี 2566 นี้ แต่คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้ไฟฟ้าสีเขียวได้จริงในปี 2567 เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่จะสร้างขึ้นใหม่จะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ได้ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

รายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาทั้ง 175 ราย

Advertisment