เริ่มแล้ว “Waste Side Story Camp” การประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจากขยะ จัดขึ้นครั้งแรกระหว่างวันที่ 13-14 มกราคม 2563 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และจะจัดต่อเนื่องอีก 4 ครั้ง ในลำดับถัดไป ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก หวังช่วยขับเคลื่อนแนวทางการบริหารจัดการขยะชุมชนอย่างครบวงจรและยั่งยืน
โครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste Side Story) ดำเนินการโดยศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97 (5) ปีงบประมาณ 2562 ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) โดยเป็นการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ให้แก่สื่อมวลชนท้องถิ่น จัดขึ้นครั้งแรกระหว่างวันที่ 13-14 มกราคม 2563 ณ โรงแรมราชพฤกษ์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ โดยมีนายกิตติพงษ์ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวเปิดการประชุม
โครงการ Waste Side Story มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ โดยมุ่งหวังให้มีการสร้างเครือข่ายของสื่อมวลชนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์เนื้อหา (Create Content) เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ตลอดจนเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจากขยะ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ และขยายผลสู่สาธารณะอย่างถูกต้อง
นายกิตติพงษ์ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า ในยุคที่มีการสื่อสารเป็นตัวขับเคลื่อนโซเชียลมีเดียเป็นตัวแปรสำคัญในการสื่อสารข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ไปสู่ประชาชน สำนักงาน กกพ. จึงเล็งเห็นว่าสื่อมวลชนท้องถิ่นยังคงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารส่งต่อข้อมูลและแนวคิดไปยังกลุ่มประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้ สื่อมวลชนท้องถิ่นมีความเข้าใจพื้นฐานของวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ และแนวคิดของคนในชุมชนเป็นอย่างดี จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารข้อมูลข่าวสารในท้องถิ่นไปยังประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ดังนั้น โครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste Side Story) ที่จัดขึ้นในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้สื่อมวลชนท้องถิ่นเกิดความรู้ความเข้าใจต่อการพัฒนาพลังานไฟฟ้าจากขยะได้อย่างมีนัยสำคัญ และคาดว่าจะทำให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ผ่านสื่อมวลชนท้องถิ่นในพื้นที่เป้าหมายต่าง ๆ สร้างการมีส่วนร่วมในการผลิตคอนเทนต์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจากขยะเพื่อขยายผลสู่สาธารณชน เป็นไปตามยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงาน (พ.ศ.2561-2564) คือการพัฒนาการมีส่วนร่วม สื่อสารอย่างเข้าถึง และเข้าใจ
ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะขยะจากชุมชน โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่าในปี 2561 ประเทศไทยมีปริมาณขยะ 27.93 ล้านตัน หรือเฉลี่ยวันละ 76,529 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปี 2560 มีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ และถึงแม้จะมีการนำขยะไปกำจัดและนำไปเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ (reuse & recycle) อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องอีกราว 1 ใน 4 ของปริมาณขยะทั้งหมด จึงจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีแนวทางการบริหารจัดการขยะชุมชนอย่างครบวงจร
โดยวิธีหนึ่งคือการกำจัดโดยการเพิ่มมูลค่า คือการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste to Energy) ซึ่งเป็นวิธีการจัดการที่มีประโยชน์และสร้างมูลค่าให้กับขยะที่เหลือจากการจัดการโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยปัจจุบันภาครัฐพยายามส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าขยะชุมชนกระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ และเสริมเสถียรภาพความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ
สำหรับโครงการฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง โดยมีสื่อมวลชน ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์/เคเบิลทีวี และสื่อออนไลน์ รวมทั้งสมาคมผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดในพื้นที่ และสื่อภาคพลเมืองในพื้นที่ เข้าร่วมจำนวน 60 คน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และวิทยากรด้านการมีส่วนร่วม เข้าร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยน เรียนรู้ กับผู้เข้าร่วมประชุม นอกจากนั้น ยังได้นำผู้เข้าร่วมประชุมศึกษาดูงาน ณ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบผสมผสานบ้านตาล (โรงไฟฟ้าบ้านตาล) เพื่อให้ได้เรียนรู้การจัดการขยะด้วยการผลิตเป็นพลังงานจากสถานที่จริง
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้ฝึกผลิตผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบคลิปวิดีโอและคอนเทนต์สำหรับสื่อออนไลน์ในประเด็นเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจากขยะด้วยเทคนิคการคิดด้วยภาพ เพื่อสื่อสารเรื่องไฟฟ้าจากขยะได้อย่างน่าสนใจ มีวิธีการนำเสนอในเชิงสร้างสรรค์ สื่อสารกระชับ เข้าใจง่าย และมีประสิทธิภาพ
โครงการ Waste Side Story มีกำหนดจะเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของสื่อมวลชนอีก 4 ครั้ง ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือ 1 ครั้ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ครั้ง และภาคตะวันออกอีก 1 ครั้ง