จากการกำหนดแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานของไทย ส่งผลให้กิจการไฟฟ้าต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางของโลก โดยนอกจากจะปรับให้พร้อมรับมือกับเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่าน หรือ Disruptive Technology แล้ว ยังมุ่งให้เกิดการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า ทั้งด้านประสิทธิภาพและต้นทุนเชื้อเพลิง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค โดยก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ต้องเปิดเสรีให้มีการแข่งขันมากขึ้น
ซึ่งแนวทางการเปิดเสรีก๊าซฯ คือ ส่งเสริมให้มีเอกชนเข้ามาแข่งขันในการจัดหาและค้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มากรายขึ้น จากเดิมที่โครงสร้างกิจการก๊าซฯของไทย มี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการหลักทั้งในด้านการจัดหาและระบบท่อส่งก๊าซ โดยเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบท่อส่งก๊าซฯ (Gas Pipeline) และสถานีรับจ่าย LNG (LNG Terminal) ดังกล่าวเพียงรายเดียว ตามนโยบายของรัฐก่อนหน้านี้ ที่ต้องการให้ ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้ดำเนินการหลัก เพื่อให้เกิดความมั่นคง
ขณะเดียวกัน การเปิดเสรีก๊าซฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งในอนาคต เพราะประเทศไทยยังใช้ก๊าซฯเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า คือ เป็นสัดส่วนกว่า 60% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด โดยก๊าซฯส่วนใหญ่ ราว 80% มาจากอ่าวไทย แต่ก๊าซฯ ในอ่าวไทยมีแนวโน้มจะลดลงไปเรื่อยๆ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้า LNG จากต่างประเทศมาทดแทนมากขึ้น ซึ่งการนำเข้า LNG จะมีผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าในอนาคต ดังนั้น การเปิดให้มีผู้เล่นหลายรายในตลาด LNG นำเข้า จะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา และอาจทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลงได้
ในการดำเนินการให้กระบวนการเปิดเสรีก๊าซฯ บรรลุตามเป้าหมาย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นับว่ามีบทบาทและหน้าที่สำคัญ โดยเป็นผู้พิจารณาให้ใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซฯ แก่เอกชน รวมทั้งออกกฎกติกาการขอใช้ท่อส่งก๊าซฯ และการขอใช้สถานี LNG ของ ปตท. ให้เอกชนรายอื่นที่ต้องการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้น โดยให้เกิดความชัดเจน ทั้งการกำหนดอัตราค่าเช่าคลัง LNG และอัตราค่าผ่านท่อก๊าซฯ เป็นต้น
ที่ผ่านมา กกพ. ได้อนุมัติและประกาศใช้ “ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบกแก่บุคคลที่สาม” หรือ (Third Party Access Code :TPA Code) และการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานี LNG แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Regime : TPA Regime) ไปแล้ว เมื่อเดือน มี.ค. 2558
สำหรับ TPA Code นั้น เป็นข้อกำหนดและเงื่อนไขในการปฏิบัติที่ผู้เป็นเจ้าของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ หรือ สถานี LNG ต้องจัดทำขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่สามที่ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซฯ จาก กกพ. หรือ ผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่น สามารถเข้ามาใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซ หรือสถานี LNG ได้ เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ และมีการบริการของระบบโครงข่ายพลังงานอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และไม่เลือกปฏิบัติ ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. ซึ่งสาระสำคัญใน TPA Code ประกอบด้วย ภาระผูกพันและหน้าที่ ขอบเขตการเปิดใช้หรือเชื่อมต่อ การจัดสรรสิทธิการใช้ความสามารถในการให้บริการ ข้อกำหนดคุณสมบัติก๊าซฯ การวัดก๊าซฯ การยื่นคำขอเชื่อมต่อสถานี และอัตราค่าบริการ เป็นต้น
หลังจาก กกพ. ได้ออกข้อกำหนด TPA Code มาแล้ว ต่อมาในปี 2560 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็ได้อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการนำร่องเป็นผู้จัดหาก๊าซฯ LNG รายใหม่ โดยให้นำเข้า 1.5 ล้านตัน เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เองภายในปี 2561 และจะเป็นต้นแบบให้เอกชนรายอื่นที่สนใจเข้ามาดำเนินการนำเข้า LNG มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน กฟผ.อยู่ระหว่างเปิดประมูลให้เอกชนแข่งขันเป็นผู้นำเข้าก๊าซฯปริมาณดังกล่าวให้ กฟผ. โดย กพช. มีมติล่าสุดให้เลื่อนการนำเข้าไปเป็นภายในปี 2562
การประกาศเพื่อเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้ามาใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซฯ ของ ปตท. และสถานี LNG ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้มีการใช้งานระบบท่อส่งก๊าซฯและสถานี LNG ที่มีอยู่อย่างเต็มสมรรถนะ และทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจการค้าก๊าซฯมากขึ้น สุดท้ายผู้ใช้ก๊าซฯจะได้รับประโยชน์ด้านราคาจากกลไกการแข่งขัน
นอกจากนี้ กกพ. กำลังพิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซฯ ใหม่ เพื่อรองรับการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซฯ และรองรับโครงสร้างอุตสาหกรรมก๊าซฯ ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย เนื่องจากในอนาคตจะมีผู้ประกอบการหลายรายเป็นผู้นำเข้าก๊าซฯเพิ่ม ขณะที่โครงสร้างราคาก๊าซฯ ที่ใช้คำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน คำนวณจากก๊าซฯ ที่ได้จากทุกแหล่ง ทั้งอ่าวไทย ก๊าซฯจากแหล่งในพม่า และแหล่ง JDA ที่ไทยพัฒนาร่วมกับมาเลเซีย รวมถึง LNG ที่ ปตท. เป็นผู้นำเข้า โดยนำมาคำนวนรวมเป็นราคาเดียว ที่เรียกว่า “ราคา Pool” ดังนั้น จะต้องพิจารณาว่าจะนำราคานำเข้า LNG ของผู้นำเข้ารายใหม่ๆ มาผูกรวมกับราคา Pool ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหรือไม่ และจะมีหลักเกณฑ์คิดราคาอย่างไร เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศที่จะสูงเกินไป เป็นต้น
การเปิดเสรีก๊าซฯ ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ถือเป็นมิติใหม่ของธุรกิจก๊าซฯ ของไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมทั้งระบบ จะเกิดผู้ซื้อผู้ขายหลายราย และอาจจะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประเทศด้วย ดังนั้น กกพ. ในฐานะกำกับดูแลกิจการพลังงาน จึงต้องกำหนดกรอบกติกาให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศต่อไป