กกพ. ร่อนหนังสือถึง PEA สั่งตัดหม้อแปลงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมกวดขันพื้นที่ชายแดนมากขึ้น

127
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหนังสือถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กวดขันพื้นที่ชายแดนที่อาจเป็นพื้นที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หากพบสั่งตัดหม้อแปลงไฟฟ้าให้หมด ป้องกันการสร้างความเสียหายให้ประชาชนและประเทศ พร้อมยืนยันกรณีอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว (UGT) ไม่ได้ทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศสูงขึ้น  

นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กกพ. มีมติให้ทำหนังสือถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)  ให้ติดตามและกวดขัน พื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่บริเวณชายแดนฯ บ่อนการพนัน ที่อาจเป็นพื้นที่ทำงานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และแก๊งค์ค้ายาเสพติด เพื่อดำเนินการตัดหม้อแปลงไฟฟ้าให้หมด ป้องกันไม่ให้เกิดการนำไฟฟ้าไปใช้ทำลายประเทศชาติ

“บอร์ด กกพ. ติดตามเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์มานานแล้ว และ ล่าสุด กสทช.ได้สั่งให้ตัดสายอินเตอร์เน็ต แต่ยังไม่มีข้อสั่งการเกี่ยวกับไฟฟ้า แต่เรื่องนี้เห็นว่า เป็นการบ่อนทำลายประเทศ ที่ต้องรีบดำเนินการ ฉะนั้น หากชาวบ้านในพื้นที่ พบเห็นการทำงานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็ให้รีบแจ้งต่อเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเพื่อดำเนินการเข้าไปตัดหม้อแปลงได้ทันที”

- Advertisment -

นายวรวิทย์ ยังกล่าวถึงกรณีมีการแพร่ข่าวให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ใช้เทคนิคการสื่อสารด้วยการนำผลกระทบมาสร้างความน่าสนใจ (Interesting) โดยบิดเบือนว่าการจัดหาไฟฟ้าราคาหน่วยละ 2.1679 บาท จะทำให้ค่าไฟฟ้าตามบ้านเรือนแพง เมื่อประชาชนได้ยินว่า “ค่าไฟฟ้าแพง”จึงเกิดความสนใจและติดตามเรื่องนี้ และแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน จนการดำเนินโครงการประสบปัญหา ส่วนผู้บิดเบือนข้อเท็จจริงจะมีวัตถุประสงค์อื่นใด ผมไม่ทราบ เพียงแต่เกรงว่า การบิดเบือนข้อเท็จจริงดังกล่าวจะทำให้ประชาชนซึ่งมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว เกิดความวิตกกังวล ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวปราศจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิงและอาจทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รับทราบข้อความบิดเบือนแล้วเกิดความไม่มั่นใจต่อการจัดเตรียมไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดไว้รองรับการลงทุน และเปลี่ยนแผนการลงทุนไปประเทศอื่น อันจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ผมจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

1. การได้มาซึ่งไฟฟ้าแบ่งเป็น 2 ส่วน

 1.1 การรับซื้อไฟฟ้า มาจากฝ่ายนโยบายที่กำหนดปริมาณรับซื้อ ราคารับซื้อ ประเภทเชื้อเพลิงและวิธีการจัดหา ฉะนั้นต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับส่วนนี้

 1.2 การขายไฟฟ้าให้ประชาชน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. ซึ่งมีหน้าที่นำต้นทุนด้านต่างๆมาคำนวณและตัดทอนต้นทุนที่ไม่จำเป็นออกไป ที่ผ่านมา กกพ. ตัดทอนค่าก๊าซโดยเรียกคืนมูลค่า Shortfall เกือบ 2 หมื่นล้านบาท เอามาลดค่าไฟฟ้า ลดค่าบริการในบิลค่าไฟฟ้า เดือนละ 39 บาท เหลือ 24 บาท และลดค่าบริการผ่านท่อก๊าซ

จากข้อเท็จจริงนี้ขอสรุปว่า ราคารับซื้อไฟฟ้า 2.1679 บาท เป็นการดำเนินงานของฝ่ายนโยบาย

2. การรับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.1679 บาท ไม่ได้ทำให้ค่าไฟฟ้าบ้านแพงหรือไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เพราะไฟฟ้าในส่วนนี้ผลิตมาเพื่อขายให้กับนักลงทุนที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดและมีอัตราที่สูงกว่าค่าไฟบ้าน ฉะนั้นแม้ยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.1679 บาทไปแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้ค่าไฟบ้านถูกลง เพราะค่าไฟฟ้าจากกลุ่ม Adder และ FiT ซึ่งมีราคาหน่วยละ 3.1617 ถึง 11.1617 บาท ฝังอยู่กับค่าไฟบ้าน ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ กกพ.จัดหาไปแล้วนั้น ไปคิดกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งสองส่วนนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกันในเรื่องของราคาค่าไฟฟ้าแต่อย่างใด

 3. จากตัวเลขต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าตามประเภทเชื้อเพลิง (Generation Mixed) เช่น ลิกไนต์ 1.52 บาท น้ำ 1.45 บาท ก๊าซ 3.18 บาท เป็นต้น เมื่อนำราคาทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ย พบว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.02 บาท ดังนั้น การนำไฟฟ้าที่มีราคารับซื้อต่ำกว่า 3.02 บาทเข้าระบบ ก็จะทำราคาค่าไฟเฉลี่ยลดลงด้วย ในทางตรงกันข้าม หากนำไฟฟ้าที่มีต้นทุนการรับซื้อสูงกว่า 3.02 บาทมาเพิ่มในระบบ ก็จะทำให้ราคาค่าไฟเฉลี่ยสูงขึ้น ตัวเลขนี้จะทำให้ประชาชนเห็นว่า ควรจัดการกับ Adder กับ Feed in Tariff ซึ่งมีต้นทุนตั้งแต่ 3.1617 ถึง 11.1617 บาทโดยเร็ว และเร่งจัดหาไฟฟ้าที่มีราคาต่ำกว่า 3.02 บาท เพื่อให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงเรื่อยๆ

Advertisment