ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) วันที่ 8 พ.ค.2563 รับทราบรายงานจาก ปตท. ในการเริ่มลดใช้ก๊าซฯอ่าวไทย และหันมานำเข้าก๊าซ LNG แบบตลาดจร (Spot) ช่วงที่มีราคาถูกกว่าทดแทนแล้วตั้งแต่ ม.ค.2563 ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างพิจารณานำเข้าเพิ่มเติม เพื่อช่วยลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า ในขณะที่ กฟผ.ยังไม่รายงานผลสรุปการเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เพื่อเลื่อนผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ แก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าล้นระบบ มายัง กกพ. คาดรู้ผลสิ้นเดือน พ.ค. นี้
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) วันที่ 8 พ.ค.2563 รับทราบความคืบหน้า “แนวทางบริหารจัดการไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ชะลอตัวลงในปี 2563นี้ เนื่องจากปัญหาไวรัส COVID-19”
โดยหลังจาก การประชุม กกพ.เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้มอบหมายให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไปพิจารณาลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) แบบตลาดจร(Spot)ช่วงที่มีราคาถูก มาใช้แทน รวมทั้งให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ไปหารือกับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) กำลังการผลิตไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ ให้เลื่อนการผลิตไฟฟ้าไปปลายปี2563 หรือในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนกลับมาสูงขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมให้ถูกลงนั้น ล่าสุด ทางปตท.ได้รายงานต่อบอร์ด กกพ.ว่า ได้เริ่มดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนม.ค.2563 จนถึงขณะนี้ ได้นำเข้ามาจำนวน 2 ลำเรือแล้วเนื่องจากเห็นว่าราคาก๊าซ LNG ถูกกว่าก๊าซในอ่าวไทย และกำลังพิจารณาที่จะนำเข้ามาเพิ่มเติมอีก โดยอยู่ระหว่างการประเมินความต้องการใช้ก๊าซฯของประเทศ และพิจารณาราคา LNG ตลาดโลกประกอบกันด้วย โดยหากเห็นว่าราคา LNG ปรับสูงขึ้นมาใกล้เคียงกับก๊าซฯในอ่าวไทย ก็จะหยุดการนำเข้าLNG แบบ Spot
สำหรับในส่วนของ กฟผ.นั้น ยังไม่ได้รายงานข้อสรุปให้ บอร์ด กกพ. ซึ่งคาดว่าภายในเดือน พ.ค. 2563 นี้จะได้ข้อมูลที่ชัดเจน แต่เบื้องต้น กกพ.ได้หารือกับภาคเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า SPP บางส่วนแล้วพบว่า ผู้ประกอบการบางรายน่าจะเลื่อนการผลิตไฟฟ้าไปปลายปีหรือช่วงมีความต้องการไฟฟ้าปรับสูงขึ้นได้ แต่ยังติดเงื่อนไขที่ต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญา ซึ่งหากภาครัฐปลดล็อคให้ได้ ทาง SPP รายดังกล่าว ก็สามารถจะดำเนินการตามแนวทางที่ กกพ.ต้องการได้