กกพ.ประกาศให้ 6 บริษัทที่ยื่นอุทธรณ์ ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำด้านเทคนิคในโครงการรับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 100 เมกะวัตต์

881
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศให้อีก 6 บริษัทที่ยื่นอุทธรณ์ ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำด้านเทคนิค ในการเสนอขายไฟฟ้า ตาม “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม” โดยก่อนหน้านี้มี 18 บริษัทที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว และภายในวันที่ 15 มี.ค. 2566 กกพ.จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อเริ่มซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 100 เมกะวัตต์ ตามมติ กพช.ที่กำหนดไว้ต่อไป  

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC) รายงานว่า หลังจากมีผู้ยื่นอุทธรณ์กรณีไม่ผ่านการพิจารณาทางด้านเทคนิคขั้นต่ำของ “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม (ปี 2569) พ.ศ. 2565” นั้น ล่าสุด นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ลงนามประกาศสำนักงาน กกพ. แจ้งว่า ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาการขอยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว และได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ความพร้อมด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) โดยมีผู้ผ่านเกณฑ์เพิ่มเติมอีก 6 ราย ( จากครั้งแรกมีผู้ผ่านเกณฑ์ 18 ราย รวม 142 เมกะวัตต์ )

สำหรับผู้ผ่านเกณฑ์ฯ 6 ราย ประกอบด้วย

- Advertisment -

1.บริษัท โรงไฟฟ้าชุมชนคอนสวรรค์พัฒนา จำกัด

2.บริษัท โรงไฟฟ้าชุมชนเชียงใหม่ จำกัด

3.บริษัท โรงไฟฟ้าชุมชนชัยนาท จำกัด

4.บริษัท โรงไฟฟ้าชุมชนพิษณุโลก จำกัด

5.บริษัท กบินทร์ กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด

6.บริษัท บางปะอินกรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด

ทั้งนี้ “โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม(ปี 2569) พ.ศ. 2565” ได้เปิดรับข้อเสนอขายไฟฟ้ามาตั้งแต่ 20 ต.ค. 2565  โดยหลังจากประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาดังกล่าวแล้ว ตามกำหนดการ กกพ.จะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 15 มี.ค. 2566 และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะแจ้งเงื่อนไขการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 28 มี.ค. 2566  จากนั้น ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จะลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 180 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 

โดยการเปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในครั้งนี้เป็นไปตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชอบให้รับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 100 เมกะวัตต์ ในรูปแบบการสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT)  และให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 2569 เพื่อให้เป็นไปตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ. 2564-2573 หรือ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1

ทั้งนี้เงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม กำหนดให้รับซื้อจากโรงไฟฟ้าที่มีขนาดกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์(VSPP) จำนวนรวม 100 เมกะวัตต์ โดยรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบสัญญาไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า(Non-Firm) และกำหนดอัตรารับซื้อในรูปแบบ FiT โดยมีอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า 20 ปี

โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT ตามที่มติ กพช. เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 กำหนดรับซื้อไว้คือ ราคา 6.08 บาทต่อหน่วย และให้ FiT อัตราพิเศษเพิ่มอีก 0.70 บาทต่อหน่วย สำหรับโครงการขยะอุตสาหกรรม 8 ปีแรก ส่วนโครงการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อยและ อ.นาทวี ให้ FiT พิเศษอีก 0.50 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ได้กำหนดกรอบสูงสุดในการรับซื้อไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเป็นรายภาค สำหรับ 100 เมกะวัตต์แรกที่เปิดรับซื้อ โดยภาคเหนือรับซื้อไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ ,ภาคกลาง ไม่เกิน 40 เมกะวัตต์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่เกิน 20 เมกะวัตต์,ภาคตะวันออก ไม่เกิน 60 เมกะวัตต์ ,ภาคตะวันตก ไม่เกิน10 เมกะวัตต์ และภาคใต้ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์

สำหรับขยะอุตสาหกรรมที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าครั้งนี้ ต้องมาจากกระบวนการผลิตภายในประเทศ ห้ามใช้ขยะอุตสาหกรรมที่นำเข้าจากต่างประเทศ หรือ เชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมที่แปรรูปมาจากขยะอุตสาหกรรมที่นำเข้าจากต่างประเทศ มาเป็นเชื้อเพลิงโดยเด็ดขาด

Advertisment