กกพ. ประกาศแล้ว ค่า Ft งวด ก.ย.-ธ.ค. 65 ขึ้น 68.66 สต./หน่วย ชี้แจงผ่านเฟสบุ๊คแทน หลังถูกภาครัฐเบรกถึง 2 ครั้ง

603
- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ชี้แจงประชาชนผ่านเพจเฟสบุ๊ค กกพ. สรุปค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 ยืนยันขึ้นค่า Ft 68.66 สต./หน่วย ทำให้ค่า Ft รวมอยู่ที่ 93.43 สตางค์/หน่วย ดันค่าไฟฟ้าพุ่ง 4.72 บาท/หน่วย ระบุเป็นอัตราค่า Ft ที่ไม่รวมหนี้ กฟผ. เพื่อช่วยลดภาระประชาชน ชี้ค่าไฟฟ้าปี 2565-2566 เป็นช่วงขาขึ้น ต้นเหตุจากการใช้ LNG ทดแทนก๊าซฯในอ่าวไทยและในเมียนมา ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าพุ่ง วอนประชาชนช่วยใช้อย่างประหยัด

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ในวันที่ 15 ส.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้สรุปค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางเพจเฟสบุ๊คของ สำนักงาน กกพ. โดยระบุว่า ค่า Ft ในรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 ปรับขึ้นอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่า Ft ทั้งสิ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

โดยค่า Ft แท้จริง ช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 อยู่ที่  236.97 สตางค์ต่อหน่วย (ประมาณ 2.37 บาทต่อหน่วย) ไม่รวมที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) รับภาระต้นทุนแทนผู้ใช้ไฟฟ้า ประมาณ 83,010 ล้านบาท  แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กกพ. ปรับเพิ่มค่า Ft เหลือเพียง 68.66 สตางค์ต่อหน่วย (รวมกับค่า Ft ปัจจุบันที่เก็บอยู่  24.77 สตางค์ต่อหน่วย) ทำให้ค่า Ft โดยรวมอยู่ที่  93.43 สตางค์ต่อหน่วย

- Advertisment -

ทั้งนี้การขึ้นค่า Ft ในช่วงปี 2565-2566 นี้มีสาเหตุหลักๆ มาจากสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)ในตลาดจร (Spot LNG) ที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและก๊าซฯจากประเทศเมียนมาที่มีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งความผันผวนของ Spot LNG ในตลาดโลก โดยสรุปได้ ดังนี้

(1) ปริมาณก๊าซในประเทศที่ลดลงจากเดิมสามารถจ่ายก๊าซได้ 2,800 – 3,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMSCFD) ลดลงเหลือราว 2,100 – 2,500 MMSCFD ทำให้ต้องนำเข้า Spot LNG เข้ามาเสริมหรือเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเพื่อทดแทนปริมาณก๊าซที่ขาด หากแต่ในช่วงสงครามรัสเซีย – ยูเครน ส่งผลให้ราคา Spot LNG มีราคาแพงและผันผวนในช่วงประมาณ 25-50 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู เทียบกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาประมาณ 6-7 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ดังนั้นการทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย LNG หรือใช้น้ำมันจะส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

(2) การผลิตก๊าซจากเมียนมามีแนวโน้มที่จะไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตเดิมและมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565 และต้นปี 2566 ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการนำเข้า LNG มากกว่าที่ประมาณการไว้เดิม

(3) สถานการณ์ผู้ผลิต LNG ชะลอการลงทุนอันเนื่องมาจากมีความต้องการใช้พลังงานน้อยในช่วงโควิด-19 ในปลายปี 2564 หลังจากที่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากโควิดทำให้ความต้องการใช้ LNG มีมากกว่ากำลังการผลิตในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อราคาและการเจรจาสัญญาซื้อขาย LNG เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2564 และต่อเนื่องตลอดปี 2565 และปี 2566

(4) สภาวะสงครามรัสเซีย – ยูเครน ทำให้รัสเซียลดหรือตัดการจ่ายก๊าซธรรมชาติทางท่อไปยังยุโรป ทำให้ความต้องการ LNG เพิ่มขึ้นอย่างมากในยุโรปและส่งผลกระทบทางอ้อมต่อราคา LNG ในตลาดเอเชีย

“ความไม่แน่นอนของแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศและจากประเทศเมียนมา รวมทั้งสภาวะตลาดที่ไม่เอื้อต่อการเจรจาสัญญา LNG ทำให้ กกพ. ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อใช้เชื้อเพลิงสำรอง เช่น น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล หรือเชื้อเพลิงประเภทอื่น เช่น ถ่านหิน พลังน้ำ และพลังงานทดแทน เพื่อรองรับสถานการณ์ขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ต่อเนื่องจากปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงตลอดปี 2566 ตามแนวทางการบริหารเชื้อเพลิงในสภาวะวิกฤตที่ได้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไปแล้ว จึงขอให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดเพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ลดการนำเข้า Spot LNG และเพิ่มความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว”

ผู้สื่อข่าว ENC รายงานว่า นับตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. 2565 กกพ. ได้เตรียมแถลงข่าวค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 ต่อประชาชนมาหลายครั้ง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากค่า Ft ในงวดดังกล่าวปรับสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ภาครัฐ ได้เรียก กกพ. ไปชี้แจง และทำให้ กกพ. ปรับวิธีใหม่ โดยการเปิดรับฟังความเห็นค่า Ft ต่อประชาชนก่อนประกาศอย่างเป็นทางการ (จากเดิมที่ต้องชี้แจงประชาชนก่อนจะเปิดรับฟังความเห็นในภายหลัง)  

โดยที่ผ่านมาเมื่อผ่านการรับฟังความเห็นแล้ว บอร์ด กกพ. ได้มีมติสรุปค่า Ft และมอบให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายนำไปประกาศผ่านเว็บไซต์ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ทราบเรียบร้อยไปแล้ว จากนั้น กกพ.จึงกำหนดแถลงข่าวค่า Ft อย่างเป็นทางการถึง 2 ครั้ง แต่ถูกเบรกโดยภาครัฐก่อนการแถลงข่าวทันที เนื่องจากภาครัฐต้องการให้แถลงพร้อมกับแนวทางช่วยเหลือค่าไฟฟ้าประชาชน แต่ภาครัฐก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ทำให้ท้ายที่สุด กกพ. จึงใช้วิธีแถลงชี้แจงค่า Ft ต่อประชาชนผ่านเพจเฟสบุ๊ค กกพ. ในครั้งนี้แทน       

Advertisment