กกพ. ประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนระยะสั้นรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินปี 68-69

541
Screenshot
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP ระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน เฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า รวมทั้งมีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว และไม่มีการลงทุนใหม่ กำหนดรับซื้อไฟฟ้า 2 ปี ระหว่างปี 2568 – 31 ธ.ค. 2569 ราคารับซื้อไฟฟ้ากลุ่มเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ 2.20 บาทต่อหน่วย, กลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ 1 บาทต่อหน่วย และพลังงานลม 0.50 บาทต่อหน่วย

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center- ENC) รายงานว่า นายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ลงนามเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2568 ประกาศ “เชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน จากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า (ฉบับที่ 4)  พ.ศ. 2568”

ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2567 ที่มีมติให้ขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มจากปี 2567 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยรับซื้อตั้งแต่ปี 2568-2569 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2569

- Advertisment -

สำหรับสาระสำคัญของประกาศดังกล่าวระบุว่า การทำสัญญาจะเป็นรูปแบบไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า (Non-Firm) และต้องมีความพร้อมจ่ายไฟฟ้าภายในปี 2569 ซึ่งหากพบข้อจำกัดด้านศักยภาพระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Capacity) การไฟฟ้าสามารถบอกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่แก้ไขเพิ่มเติมได้ และให้การไฟฟ้าสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ได้จัดหาไฟฟ้าตามประกาศนี้ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยยายของภาครัฐ หรือ หมดความจำเป็น หรือเป็นภาระเกินควรแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า หรือเหตุอื่นที่เกิดขึ้นจนทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้

โดยประกาศดังกล่าวเป็นไปตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2567 ที่กำหนดรายละเอียดไว้ดังนี้ กพช. มีมติให้ขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม โดยรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิมหรือนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สามารถรองรับได้ โดยรับซื้อตั้งแต่ปี 2568-2569 ไม่เกิน 2 ปี (สิ้นสุด 31 ธ.ค. 2569 ) ในรูปแบบไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า (Non-Firm)

ส่วนอัตรารับซื้อไฟฟ้า เป็นดังนี้

เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ รับซื้อ 2.20 บาทต่อหน่วย

พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ,แบบติดตั้งบนพื้นดิน และแบบทุ่นลอยน้ำ รับซื้อ 1 บาทต่อหน่วย

 และพลังงานลม รับซื้อ 0.50 บาทต่อหน่วย

สำหรับความเป็นมาของมาตรการรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานนั้น ต้องย้อนกลับไปในปี 2565  เมื่อเกิดปัญหาวิกฤติราคาพลังงาน จากผลกระทบของสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ประกอบกับเป็นช่วงที่แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณยังผลิตก๊าซฯ เข้าระบบไม่เต็มที่ตามสัญญา ทำให้ไทยได้รับผลกระทบด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งด้านราคาและปริมาณ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในช่วงนั้นเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เหลือใช้ของผู้ประกอบการ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า และลดปัญหาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ช่วงนั้นมีราคาแพงมาก

จากนั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศโครงการ “รับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ทั้งจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาและไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า” ในปี 2565  ต่อมา กพช. ได้ขยายเวลาโครงการดังกล่าวต่อไปอีก ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 นี้

โดยที่ผ่านมาผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 64 เมกะวัตต์  ตามข้อกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าดังนี้ เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพและขยะ อยู่ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ และพลังงานลม กำหนดอัตรารับซื้อไว้ที่ 0.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มนี้จะไม่สูงเกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จะเป็นแบบไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า (Non-Firm)

ต่อมาคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567 ได้เห็นชอบตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เสนอต่ออายุโครงการดังกล่าวออกไปอีก 2 ปี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568- 31 ธ.ค. 2569 โดยเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จาก 50 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 1 บาทต่อหน่วย โดยจะไม่มีการกำหนดปริมาณรับซื้อโดยรวมไว้  เพื่อจูงใจผู้ประกอบการโรงงาน และอาคารธุรกิจให้ร่วมขายไฟฟ้าเข้าระบบมากขึ้น

ทั้งนี้เนื่องจากทางกระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วพบว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้อยู่ในช่วงของวิกฤติพลังงาน แต่โครงการดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์ เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าไม่แพง ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้ และลดการนำเข้า LNG ลงได้ประมาณ 1 ลำเรือ หรือประมาณ 60,000 ตัน  นอกจากนี้เมื่อได้สอบถามความเห็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนก็พบว่า ยังมีความสนใจขายไฟฟ้าส่วนเกินดังกล่าวให้ภาครัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่า 2 ปีจากนี้ น่าจะรับซื้อได้ประมาณเกือบ 100 เมกะวัตต์ 

Advertisment