กกพ.ชี้ “โซลาร์ภาคประชาชน” เน้นผลิตใช้เอง เหลือแล้วขายเข้าระบบ คืนทุน7-10ปี

6528
- Advertisment-

กกพ.ชี้โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ออกแบบให้ ประชาชนติดตั้งเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองเป็นลำดับแรก หากมีไฟฟ้าส่วนที่เหลือค่อยขายเข้าระบบจึงจะคุ้มค่าการลงทุน ภายใน7-10ปี ในขณะที่รัฐมนตรีพลังงานให้นโยบายเปิดทางกลุ่มโซลาร์รูฟท็อปนำร่อง 30เมกะวัตต์เมื่อปี2559 สามารถเข้าร่วมขายไฟเข้าระบบในโครงการโซลาร์ภาคประชาชนได้

นายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)กล่าวว่า กกพ.ประเมินระยะเวลาคืนทุนสำหรับกรณีบ้านที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขนาดติดตั้ง5กิโลวัตต์ วงเงินลงทุนประมาณ150,000บาท-200,000บาท โดยหากเป็นการผลิตเพื่อขายเข้าระบบ 100% จะได้ราคารับซื้อไฟฟ้า 1.68 บาทต่อหน่วย คิดเป็นรายได้ต่อปีประมาณ 12,500บาท ระยะเวลาคืนทุนจะนานประมาณ 12 -16ปี

แต่ถ้าหากเป็นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและใช้เอง 100% โดยไม่ได้ขายเข้าระบบเลย จะสามารถประหยัดรายจ่ายค่าไฟฟ้าซึ่งอยู่ที่ 3.8 บาทต่อหน่วย คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ประมาณ 28,000 บาทต่อปี ระยะเวลาคืนทุนจะสั้นลงอยู่ที่ประมาณ 5-7 ปี

- Advertisment -

ดังนั้นโครงการโซลาร์ภาคประชาชนจึงสนับสนุนให้มีการติดตั้งเพื่อใช้เองเป็นลำดับแรกและหากมีไฟฟ้าที่ผลิตเหลือใช้ค่อยขายเข้าระบบ จะทำให้มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน  โดยกรณีดังกล่าว จะคิดเป็นส่วนรายได้และรายจ่ายที่ประหยัดได้รวมประมาณ20,000บาทต่อปีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ประมาณ 7-10 ปี

ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบายต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เพื่อพิจารณาให้กลุ่มผู้เข้าร่วม “โครงการนำร่องการส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซล่าร์รูฟท็อป) แบบเสรี ในช่วงปลายเดือน ก.ค.-ส.ค. 2559” สามารถเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนในครั้งนี้ได้เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปได้

ทั้งนี้การที่โครงการโซลาร์รูฟท็อปเมื่อปี 2559 ไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 100 เมกะวัตต์  โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการเพียง 30 กว่าเมกะวัตต์  เนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่เปิดรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน เหมือนโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ที่กำหนดอัตรารับซื้อที่1.68 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นราคาที่เป็นธรรมทั้งผู้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ติดตั้งแผง เนื่องจากเป็นราคาเทียบเท่ากับต้นทุนส่วนเพิ่มของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ในปี 2562

อย่างไรก็ตามในปีถัดไปที่จะเปิดรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์นั้น กระทรวงพลังงานจะต้องพิจารณาราคารับซื้อไฟฟ้าใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

นายศิริ กล่าวด้วยว่า มั่นใจว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จะไม่มีผลกระทบต่อโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เนื่องจากเป็นโครงการตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)และมีมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)รองรับ โดยหากรัฐบาลใหม่จะเปลี่ยนหรือยกเลิกโครงการก็จะต้องมีเหตุผลที่ดีพอ เพราะโซลาร์ภาคประชาชนเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจำนวนมาก

Advertisment