กกพ.คาดค่าไฟฟ้างวดต่อไป พ.ค.-ส.ค.2566 แตะ 5.24 บาทต่อหน่วย ภาคครัวเรือนจ่ายเพิ่ม หากรัฐไม่กำหนดให้แยก 2 ราคาเหมือนปัจจุบัน

5126
- Advertisment-

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เผย กกพ.คาดการณ์ค่าไฟฟ้างวดต่อไปเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ยังอยู่ระดับ 5.2407 บาทต่อหน่วย และจะกลับเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศทันที ภาคครัวเรือนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น หากภาครัฐไม่ได้สั่งการให้แยกค่าไฟฟ้าเป็น 2 กลุ่มเหมือนปัจจุบัน (งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566) ที่ให้กลุ่มครัวเรือนได้รับการช่วยเหลือให้ค่าไฟฟ้าถูกกว่ากลุ่มอุตสาหกรรม สำหรับอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว คาดประกาศราคาได้ในเดือน เม.ย. 2566 นี้ พร้อมเปิดจองสิทธิ์ช่วงเดือน มิ.ย. 2566 ต่อไป  

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงอัตราค่าไฟฟ้าระยะสั้นปี 2566 ว่า การจะเห็นค่าไฟฟ้ากลับไปต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยยังเป็นเรื่องยาก เพราะกำลังการผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทย ยังไม่เป็นไปตามแผน ขณะที่ต้นทุนราคาพลังงานยังทรงตัวในทิศทางขาขึ้น แต่ในช่วงปลายปี 2566 นี้ ถึงต้นปี 2567 มีโอกาสที่ค่าไฟฟ้าจะทยอยปรับลดลงได้ หากกำลังการผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทยเพิ่มขึ้น และราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) อ่อนตัวลง

ส่วนแนวโน้มค่าไฟฟ้าในงวดที่ 2 ของปี 2566 นี้ (พ.ค.- ส.ค.2566) กกพ.เตรียมคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าในช่วงเดือน มี.ค. 2566 เพื่อพิจารณาว่า ปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ทั้งราคาก๊าซฯ กำลังการผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทย อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ความต้องการใช้ไฟฟ้า เปลี่ยนแปลงไปจากสมมติฐานที่ตั้งไว้อย่างไร ซึ่งหากสมมติฐานต่างๆไม่เปลี่ยนแปลงไปจากคาดการณ์ในงวดก่อน อัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ ก็จะยังอยู่ในระดับประมาณ 5.2407 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ หากภาครัฐไม่มีนโยบายกำหนดให้ กกพ.คำนวนอัตราค่าไฟฟ้าเป็น 2 กลุ่มเหมือนช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ที่แบ่งอัตราค่าไฟฟ้า เป็นกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย อยู่ที่อัตรา 4.7176 บาทต่อหน่วย และกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น(ที่ไม่ใช่บ้านอยู่อาศัย) อยู่ที่อัตรา 5.3325 บาทต่อหน่วย แต่หากภาครัฐมีนโยบายให้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้า เป็น 2 กลุ่มตามเดิม กกพ.ก็พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐ

- Advertisment -

ส่วนแนวทางการกำกับกิจการของ กกพ. ต่อไปนี้จะมุ่งสร้างกลไกเพื่อเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงาน ทั้งกิจการก๊าซธรรมชาติที่อาจมีการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อรองรับการแข่งขันในขณะที่ยังคงต้องรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน พร้อมสนับสนุนการใช้พลังงานสีเขียวในราคาที่ยอมรับได้ ติดอาวุธผู้ประกอบการเอกชนในเวทีการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการซื้อและได้รับการรับรองการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนจากมาตรการภาษีคาร์บอนข้ามแดน (CBAM) โดยหนึ่งในกลไกสำคัญได้แก่ ไฟฟ้าสีเขียว หรือ Green Tariff ที่ออกแบบให้มีการขายไฟฟ้าพร้อมใบรับรอง (Rec) ที่สามารถระบุที่มาของแหล่งผลิตไฟฟ้าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว โดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าและยุ่งยากกับกระบวนการออกใบรับรอง

ปัจจุบัน Green Tariff ได้รับความนิยม และมีให้ใช้แล้วในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ  สำหรับประเทศไทยที่มีโครงสร้างการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Regulated Market นั้น กกพ. จึงมี แนวคิดที่จะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้จากการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบบ FiT พ.ศ. 2565 – 2573 จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ที่รัฐได้รับสิทธิ์ใน REC มาเป็นองค์ประกอบหลักของ Green Tariff และจะยังมีการขยายผลให้รวมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. ในอนาคตที่จะมีการผลิตเพิ่มเติมตามแผน PDP และการผลิตไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ที่รัฐมีกรรมสิทธิ์ใน REC ให้มารวมอยู่ใน Green Tariff ด้วย

ขณะนี้ กกพ. อยู่ระหว่างเตรียมหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนแห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถกำหนด อัตรา Green Tariff ได้อย่างเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียว และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ

เบื้องต้น อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว(Utility Green Tariff: UGT) ได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการจาก  ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ไปแล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า(ไม่เจาะจงที่มา) ซึ่งเป็นการนำใบรับรอง REC ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ โดยมีอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติที่ครอบคลุมต้นทุนค่า REC รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ กกพ. จะกำหนดต่อไป ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบนี้ มีข้อจำกัดว่าเป็นไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบอยู่แล้ว จึงอาจไม่ช่วยเรื่องของไฟฟ้าสีเขียวได้มากนัก 

(2) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเดิมในระบบไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชน(เจาะจงที่มา) ซึ่งเป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) ในการรับบริการ และอัตราค่าบริการกำหนดจากต้นทุนการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ของแต่ละ Portfolio รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ กกพ. จะกำหนดต่อไป ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ 5,203 เมกะวัตต์ ที่ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าฯ และเป็นที่สนใจของหลายบริษัทที่ต้องการซื้อไฟฟ้าสีเขียว โดยไฟฟ้าในส่วนนี้ จะถูกแบ่งกลุ่ม ตามความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น โซลาร์ล้วน ,โซลาร์ผสมแบตเตอรี่ หรือ ลม เป็นต้น ซึ่งต้นทุนจะมาจากพลังงานนั้นๆ บวกกับใบรับรองฯ และค่าบริการของระบบรวมถึงคืนกำไรให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปด้วย และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันของประเทศ เพราะเท่าที่ประเมินจากอัตราการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ ถือว่าเป็นอัตราที่ไม่แพง

สำหรับกระบวนการออกประกาศอัตรา Utility Green Tariff: UGT คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในครึ่งแรกของปี 2566 และประกาศอัตรา UGT 1 และ UGT 2 ได้ในเดือน เม.ย. 2566 นี้ จากนั้นจะเปิดให้ผู้สนใจซื้อไฟฟ้าสีเขียวจองสิทธิ์ได้ในช่วงเดือน มิ.ย.2566นี้ และเริ่มการซื้อขายจริงได้ เมื่อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่รัฐเปิดรับซื้อเข้าระบบล็อตใหม่ 5,203 เมกะวัตต์ เริ่มทยอยผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งช่วงเวลานั้นผู้ซื้อไฟฟ้าสีเขียวก็จะสามารถนำ REC ไปเคลมภาษีได้

นายคมกฤช มองว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านของกระบวนการผลิตและใช้พลังงานของประเทศไทย จำเป็นจะต้องมีการผลิตพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามแผน PDP ฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% จากปัจจุบันที่มีพลังงานหมุนเวียนอยู่ประมาณ 10% อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีหลายโครงการที่ผ่านกระบวนการรับซื้อไฟฟ้าในอดีตไปแล้ว แต่โครงการยังไม่สามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ตามแผน เช่น โครงการ SPP Hybrid จึงจำเป็นต้องปรับแนวทางการคัดเลือกเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการที่จะได้มาซึ่งพลังงานสีเขียวเข้าสู่ระบบมากขึ้น และให้มีพลังงานสีเขียวเพียงพอกับความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรม  ขณะเดียวกันก็มีการส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้เองด้วย

โดย กกพ. จะร่วมกับ 3 การไฟฟ้า(กฟผ.,กฟภ.,กฟน.) เร่งรัดกระบวนการและขั้นตอนการอนุญาตและการเชื่อมต่อระบบให้สามารถดำเนินการ COD หรือเชื่อมต่อระบบได้ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับแจ้งการก่อสร้างแล้วเสร็จเพื่อให้การผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ มองว่าการวางแผน PDP ควรมีกำลังการผลิตหลักและกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่มีความสมดุล เหมาะสม และไม่กระทบต่อความมั่นคงและราคาพลังงานมากเกินไปหรืออยู่ในระดับที่ยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม จากอดีตจนถึงปัจจุบัน กกพ. ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการกำกับและการคิดราคาพลังงานให้เหมาะสม และสอดคล้องกับโครงสร้างกิจการพลังงาน ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการคิดราคาก๊าซธรรมชาติและการคิดราคาไฟฟ้าให้มีการแยกส่วน (Unbundling) ให้มีความยืดหยุ่นต่อโครงสร้างกิจการพลังงานที่อาจต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ขณะเดียวกัน ยังมีการปรับปรุงพัฒนากระบวนการอนุมัติอนุญาตประกอบกิจการพลังงานและการตรวจติดตามผ่านระบบ online  ยกระดับการอนุมัติการใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้มีการกระจายอำนาจและให้เกิดความยืดหยุ่นต่อการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งการมีกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ปรับปรุงกระบวนการภายในให้มีการใช้ระบบ Digital มากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อด้านต่างๆผ่านระบบ Online ระบบมือถือ และการติดต่อสื่อสารผ่าน Platform ต่างๆที่จะมีขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อนำการกำกับกิจการพลังงานเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงพร้อมรองรับ Energy Transition ที่จะมีขึ้นในอนาคต

Advertisment