ผู้บริหาร WHAUP มองแผน PDP2018 ผู้ประกอบการรายเล็กยังไม่ได้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่ในระยะกลางและระยะยาว จะมีโอกาสขยายการลงทุนมากขึ้นในส่วนพลังงานหมุนเวียนและระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)
นายวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยถึงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) ว่าในระยะสั้นบริษัทคงไม่ได้รับประโยชน์มากนัก เนื่องจากเป็นเพียงผู้ผลิตไฟฟ้าแบบผลิตเองใช้เอง (IPS) แต่ในระยะกลาง เชื่อว่าจะได้ประโยชน์จากการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable) และการลงทุนพัฒนาระบบโครงข่ายเชื่อมโยงไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โดยในส่วนของการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Microgrid) บริษัทพร้อมเสนอตัวเป็นผู้ดำเนินโครงการต้นแบบ (Pilot Project) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม แต่ยอมรับว่ายังมีปัญหาด้านกฎเกณฑ์และกฎระเบียบ ไม่ใช่ด้านเทคนิค โดยเฉพาะการส่งไฟฟ้าเข้าระบบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟไหลย้อนเข้าระบบ เป็นต้น รวมทั้งค่าผ่านสายไฟฟ้า หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เคยเปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับค่าบริการสายส่ง (วิลลิ่งชาร์จ) แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจน
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ) ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี จำนวน 45 เมกะวัตต์ ของ กฟผ. นั้น บริษัทไม่มีความสนใจเข้าร่วมประมูล เพราะเป็นการดำเนินการหาผู้รับเหมาโครงการ ไม่สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจของบริษัทที่เป็นการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนลูกค้าโดยตรง และไม่มีความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นผู้ติดตั้งในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลัก ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าบนหลังคาบ้านเรือนอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะภาครัฐไม่ได้จัดโซนนิ่งอาจเกิดเงาบังแสงในบางพื้นที่ รวมทั้งครัวเรือนไม่ได้เน้นการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน และยังไม่มีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) จึงอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
สำหรับธุรกิจติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ให้กับลูกค้าทั้งภายในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ 8 แห่ง ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และอีก 1 แห่งในจังหวัดสระบุรี คาดว่าปี 2562 จะมียอดการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มขึ้น 15-20 เมกะวัตต์ จากปี 2561 ที่ผ่านมา มียอด COD แล้ว 20 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้บริษัทเป็นผู้ผลิต Solar Rooftop รายใหญ่ของประเทศ
โดยในช่วงต้นปีนี้ บริษัทสามารถติดตั้ง Solar Rooftop นอกนิคมอุตสาหกรรมให้กับบริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) ปริมาณ 0.4 เมกะวัตต์ และติดตั้งให้กับบริษัท ไวส์วูดส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นใยไม้อัด จำนวน 5 เมกะวัตต์ ส่วนพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมยังลงทุนได้อีกมาก เนื่องจากมีความต้องการไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 0.5 เมกะวัตต์ ซึ่งมีศักยภาพที่จะติดตั้ง Solar Rooftop ได้ประมาณ 700-800 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าเพื่อติดตั้งโครงการ Solar Carpark หรือ โซลาร์บนลานจอดรถ และบนพื้นดิน (Solar Farm) ซึ่งคาดว่าจะทำการ COD ในปีนี้ ได้เช่นกัน
ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี ขนาด 8.63 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชชลบุรี คาดว่าจะ COD ช่วงปลายปีนี้ ส่วนโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก เพื่อผลิตไฟฟ้าและไอน้ำขายตรงให้ลูกค้า โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง แต่โครงการจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมใหม่และความต้องการใช้ไฟฟ้า คาดว่าปีนี้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 570 เมกะวัตต์ จากปีที่ผ่านมา 521 เมกะวัตต์ ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันได้ดำเนินการให้กับลูกค้าในนิคมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 2 แล้วเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา และโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 คาดว่าจะ COD เมษายนนี้ ส่วนธุรกิจน้ำเพื่ออุตสาหกรรม ตั้งเป้าหมายการขายน้ำที่ระดับ 120 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือเติบโตประมาณ 10% จากปีที่ผ่านมา มีปริมาณการขายน้ำอยู่ที่ 105 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เนื่องจากมีปริมาณความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนทั้งปี 2562 อยู่ที่ 2,200 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้ในธุรกิจไฟฟ้า 50% และธุรกิจน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 50% คาดว่าจะใช้สำหรับการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ธุรกิจให้บริการน้ำประปาในประเทศเวียดนาม 200-300 ล้านบาท หลังจากล่าสุดบริษัทได้สิทธิในการดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภคด้านน้ำในเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ-1 เหงะอาน ประเทศเวียดนาม