WHAUP ย้ำเดินหน้าอัดงบลงทุนปีนี้ 2,700 ล้านบาท จากแผนการลงทุนใน 5 ปี (2565 – 2569) จำนวน 10,000 ล้านบาท ลุยลงทุนสาธารณูปโภค-ไฟฟ้า เผยรายได้ปี 2564 โต 16% แตะ 3 พันล้านบาท แต่กำไรสุทธิลดลง 10% อยู่ที่ 736 ล้านบาท จากผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน
ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ย้ำถึงแผนธุรกิจในปี 2565 ว่า บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนในปีนี้ 2,700 ล้านบาท จากแผนการลงทุนใน 5 ปี (2565 – 2569) จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนทั้งในส่วนของธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า ตามสัดส่วนประมาณ 50:50 ของงบลงทุน ซึ่งยังไม่รวมการลงทุนในต่างประเทศที่อยู่ระหว่างศึกษา ทั้งการลงทุนในโครงการใหม่ (Green Field) และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยคาดว่าจากแผนขยายการลงทุนดังกล่าว จะส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทฯ แตะระดับ 6,000 ล้านบาทในปี 2569
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานประจำปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯ รับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ จำนวน 3,017 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 866 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% และ 11% จากปี 2563 ในขณะที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 736 ล้านบาท ลดลง 10% เนื่องจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน โดยสาเหตุหลักที่รายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติรวมถึงกำไรจากการดำเนินงานปกติของบริษัทฯ เติบโตอย่างแข็งแกร่งมาจากธุรกิจสาธารณูปโภคมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณยอดขายและบริหารจัดการน้ำทั้งในประเทศและประเทศเวียดนาม รวมถึงการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทยอยเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ด้านธุรกิจพลังงานในปี 2564 บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าจำนวน 956 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 3% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีสาเหตุหลักจากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้าถ่านหิน
เก็คโค่-วัน ส่งผลให้รายได้ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment) ลดลง อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 8 แห่ง ยังคงเติบโต ส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP เพิ่มขึ้นจากปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้กฟผ. (EGAT) และลูกค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น
ในส่วนของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) นั้น บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนทั้งในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าขยะให้พอร์ตเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2564 บริษัทฯ มีการเติบโตของรายได้กว่า 335% จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการแล้วกว่า 57 เมกะวัตต์ และรายได้ใหม่จากการให้บริการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ (EPC) โดยในปี 2564 บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มอีก 18 โครงการ เป็นจำนวน 41 เมกะวัตต์ ทำให้ ณ สิ้นปี 2564 บริษัทฯ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์รวมแล้วทั้งสิ้น 92 เมกะวัตต์ สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับปี 2565 บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สะสมเพิ่มเป็น 150 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยรวมทั้งหมดจากโรงไฟฟ้าทุกประเภท (Contracted Capacity) ตามสัดส่วนการถือหุ้นแตะ 700 เมกะวัตต์ จากปี 2564 ที่มีจำนวน 642 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าต่อยอดธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะ เพื่อซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ หรือ ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer Energy Trading โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ด้วยความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ และพันธมิตรชั้นนำด้านพลังงานและด้านเทคโนโลยี และเป็นส่วนหนึ่งของ ERC Sandbox หรือ โครงการทดลองด้านนวัตกรรมพลังงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มการทดสอบการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการซื้อขายเชิงพาณิชย์ หลังภาครัฐให้ไฟเขียว ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักหนุนให้พอร์ตพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอีก 100-200 เมกะวัตต์ บรรลุเป้าหมายการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนได้ครบ 300 เมกะวัตต์ ในปี 2566 ตามแผนที่วางไว้
ในส่วนของธุรกิจสาธารณูปโภค ในปี 2564 บริษัทฯ มีปริมาณการจำหน่ายและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกันเท่ากับ 135 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 18% จากปี 2563 โดยภาพรวมธุรกิจสาธารณูปโภคในประเทศนั้นมีการเติบโต 17% จากปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งจากกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีการขยายกำลังการผลิต และลูกค้ารายใหม่จากกลุ่มโรงไฟฟ้าและปิโตรเคมี ประกอบกับไม่มีปัญหาภัยแล้งเหมือนปี 2563 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) จาก Wastewater Reclamation หรือการนำน้ำเสียที่บำบัดแล้วมาใช้ใหม่
–