WEF ขยับไทยขึ้นลำดับ 51 ด้านความพร้อมของระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ปี 62

865
- Advertisment-

สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum(WEF) ประกาศเลื่อนอันดับไทยขึ้นสู่ลำดับ 51ด้านความพร้อมของระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ประจำปี 2562 จากทั้งหมด 115 ประเทศทั่วโลก โดยเห็นว่าไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน ไม่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป และประชาชนเข้าถึงได้  พร้อมชื่นชมว่าไทยได้ก้าวสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานหลักของประเทศมากขึ้น

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2562 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมกับนายโรแบรโต้ บาคคา ประธานด้านพลังงานและผลิตภัณฑ์แห่งอนาคตและกรรมการบริหารสภาเศรษฐกิจโลก(Mr.Roberto Bocca, Head of Future of Energy and Materials, Member of the Executive Committee, World Economic Forum)  เปิดตัวรายงานประจำปี “Global Energy Transitions Index 2019”ของสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum(WEF)  ซึ่งเป็นการจัดอันดับระบบพลังงานของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต

ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

โดยนายศิริ กล่าวว่า  WEF ได้จัดอันดับประเทศไทย ด้านความพร้อมของระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ประจำปี 2562ให้อยู่ลำดับที่ 51 ของโลก จากทั้งหมด 115 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าพลังงานไทยมีความมั่นคง ไม่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป และประชาชนเข้าถึงได้  พร้อมยังได้ชื่นชมประเทศไทยด้วยว่าได้ก้าวสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานหลักของประเทศมากขึ้นแล้ว

- Advertisment -

ทั้งนี้ในอนาคตไทยมีแผนจะเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็น 35% ของสัดส่วนพลังงานทั้งหมดในอีก 20 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันใช้อยู่ 14% รวมทั้งไทยกำลังก้าวไปสู่การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน หรือ โซลาร์ภาคประชาชน เป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะการมีก๊าซธรรมชาติในประเทศถึง 60% ของความต้องการใช้ในประเทศ อย่างน้อย 15 ปี โดยเฉพาะการมีก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณและบงกช ที่เพิ่งประมูลเสร็จสิ้นเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ในปี 2565 เป็นต้นไป จะส่งผลให้ราคาก๊าซฯ ไม่สูงเกินไป และมีโอกาสให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้

อย่างไรก็ตามไทยยังต้องพัฒนาด้านบุคลากรด้านพลังงานมากขึ้น โดยเฉพาะไทยมีนโยบายผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)ภาคประชาชน หรือ โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งต้องใช้บุคลากรที่เชี่ยวชาญและรองรับการเติบโตดังกล่าว

ดังนั้นต้องพัฒนาบุคลากรตั้งแต่สายวิชาชีพ ปวส.ให้มีความรู้ความชำนาญด้านการติดตั้ง การออกแบบระบบโซลาร์ให้เชื่อมต่อระบบสายไฟฟ้าของประเทศ การมีความรู้ด้านระบบแบตเตอรี่สำรอง รวมทั้งในอนาคตไทยจะก้าวไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่ต้องชาร์จไฟฟ้า ซึ่งต้องมีบุคคลากรที่มีความพร้อมรองรับเทคโนโลยีใหม่ดัวกล่าวมากขึ้น เป็นต้น  โดยหากเทียบในระดับอาเซียน ประเทศสิงคโปร์อยู่ในอันดับ 1 ด้านความพร้อมของระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ประจำปี 2562 รองลงมาคือ มาเลเซีย ทั้งนี้สิงคโปร์เป็นเกาะที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก จึงทำให้สามารถออกกฎหมาย และพัฒนาบุคลากรได้ง่าย โดยเฉพาะการเปิดให้บุคคลที่สาม เข้ามาแข่งขันด้านธุรกิจพลังงานได้ง่าย ซึ่งแตกต่างจากไทยที่มีมิติทางเศรษฐกิจ สังคม ที่หลากหลายกว่า

อย่างไรก็ตามWEF ยังไม่ได้พิจารณาผลการดำเนินงานด้านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(พ.ศ. 2561-2580) หรือ PDP2018 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ โดยหากรวมแผนPDP ดังกล่าวจะเห็นว่าไทยขับเคลื่อนด้านพลังงานไปได้รวดเร็ว โดยเฉพาะโซลาร์ภาคประชาชน ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรมากขึ้นด้วย

พูนพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน

นายพูนพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การสรุปผลรายงานประจำปี (Global Energy Transitions Index 2019) ของสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum(WEF) ได้เลื่อนอันดับประเทศไทย ในด้านความพร้อมของระบบพลังงานต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ประจำปี 2562 ให้มาอยู่อันดับที่ 51 ดีขึ้นจากปี 2561 ที่อยู่อันดับ 54 จากประเทศสมาชิกทั้งหมด 115 ประเทศทั่วโลก และจัดอยู่ในอันดับ 3 ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน (อันดับ 1 สิงคโปร์, อันดับ 2 มาเลเซียและ อันดับ3 ไทย)

โดย WEF ได้วัดผลจาก 3 ปัจจัย คือ 1. ความมั่นคงพลังงานประเทศและการเข้าถึงพลังงานของประชาชน 2.พลังงานช่วยตอบสนองการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจประเทศ และ 3.ระบบพลังงานต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งวัดความพร้อมในการปรับตัวสู่พลังงานใหม่ในอนาคต เช่น ความยืดหยุ่นในการปรับตัว การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมที่ดี และประชาชนมีบทบาทร่วมตัดสินใจและออกแบบพลังงานในอนาคต

ทั้งนี้ประเทศไทยเริ่มพัฒนาไปสู่พลังงานที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) การใช้เทคโนโลยีบล็อคเชน (Blockchain) การใช้กฎระเบียบควบคุมอาคารประหยัดพลังงาน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนและผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องมากมาย อีกทั้งเป็นการออกแบบพลังงานในอนาคตที่ประชาชนร่วมกันกำหนดขึ้นมา ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่การกำหนดทิศทางพลังงานจะมาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว

สำหรับหลังจากทราบผลการจัดอันดับดังกล่าวของ  WEF ในครั้งนี้แล้ว ไทยจะต้องศึกษารายละเอียดของข้อมูลที่ WEF พิจารณา เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรในสาขาพลังงานให้เพียงพอรองรับการเปลี่ยนแปลงของพลังงานที่ทันสมัย พึ่งพาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น เป็นต้น

โดยเป้าหมายของไทยยังคงต้องการสร้างความสมดุล ระหว่าง ความมั่นคงพลังงาน การใช้พลังงานเพื่อตอบสนองการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งคนไทยต้องช่วยกันพัฒนาเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าด้านพลังงานที่เหมาะสมต่อไป

ผู้แทนจากWEFถ่ายภาพร่วมกันกับรัฐมนตรีพลังงานของไทย
Advertisment