Waste Side Story ครั้งที่ 5 ดึงสื่ออีสานดูงานเทศบาลขอนแก่น เปลี่ยนขยะชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้า

1601
- Advertisment-

โครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste Side Story) ครั้งที่ 5 จ.ขอนแก่น พาสื่อภาคอีสานร่วมศึกษาการจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธี ณ เทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ของภาคอีสานและมีปริมาณขยะชุมชนมากในแต่ละวัน แต่มีกระบวนการคัดแยกขยะและนำไปแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยหวังให้สื่อมวลชนเกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะด้วยการนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า และสื่อสารขยายผลข้อมูลที่ถูกต้องสู่ชุมชน

โครงการ Waste Side Story ดำเนินการโดยศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97 (5) ปีงบประมาณ 2562 ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 26–27 สิงหาคม 2563  ณ  จังหวัดขอนแก่น โดยมีสื่อมวลชนทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์/เคเบิลทีวี และสื่อออนไลน์ รวมทั้งสมาคมผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดและสื่อภาคพลเมืองจากจังหวัดหนองคาย อุดรธานี และกาฬสินธุ์ จำนวนทั้งสิ้น 60 คนเข้าร่วม

นายวินิจ ศรีอุบล ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 4 (ขอนแก่น) กล่าวเปิดงานโดยระบุว่า สำนักงาน กกพ. เล็งเห็นความสำคัญของสื่อมวลชนท้องถิ่นที่ยังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการสื่อสารส่่งต่อข้อมูลและแนวคิดในเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากขยะไปยังชุมชนต่าง ๆ เนื่องจากสื่อมวลชนแต่ละท้องถิ่นจะมีความเข้าใจพื้นฐานด้านวัฒนธรรม ความคิด และบริบทแต่ละชุมชนเป็นอย่างดี โครงการฯ นี้จึงมีส่วนช่วยให้สื่อท้องถิ่นที่เข้าร่วมกิจกรรม Workshop ได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น เพื่อขยายผลความรู้ในเรื่องดังกล่าวไปสู่สาธารณะมากขึ้น

- Advertisment -
วินิจ ศรีอุบล ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 4 (ขอนแก่น)

ด้าน นางสาวอาริยา หุ่นวงศ์ษา ผู้ชำนาญการพิเศษ สำนักงาน กกพ. ประจำเขต 4 (ขอนแก่น) กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องมีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เพราะหลายพื้นที่มีปัญหาพื้นที่ฝังกลบไม่เพียงพอ สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีกำจัดขยะที่หลากหลาย เช่น การนำขยะมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า อาทิ เทคโนโลยีเตาเผา เทคโนโลยีการผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF เป็นต้น ทั้งนี้ ในการขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ จะมี กกพ. เป็นผู้กำกับดูแล โดยผู้ประกอบการต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และทุก ๆ 6 เดือน จะต้องส่งรายงานการดำเนินการของโรงไฟฟ้าเพื่อควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้งต้องจ่ายเงินจากการขายไฟฟ้าเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนหรือหมู่บ้านในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าด้วย

อาริยา หุ่นวงศ์ษา ผู้ชำนาญการพิเศษ สำนักงาน กกพ. ประจำเขต 4 (ขอนแก่น)

นายทัศนัย ประจวบมอญ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครขอนแก่น กล่าวว่า ขอนแก่นเป็นเมืองที่กำลังเติบโตและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการค้า ระบบคมนาคมขนส่ง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปริมาณขยะเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีปริมาณขยะ 160-170 ตันต่อวัน จากที่เคยสูงกว่า 220 ตันต่อวัน เป็นผลจากโครงการจัดการขยะที่ต้นทางผ่านโครงการต่าง ๆ ทำให้ปริมาณขยะลดลงไปได้กว่า 68 ตันต่อวัน โดยขยะชุมชนส่วนใหญ่ 50% เป็นขยะอินทรีย์จากครัวเรือน อีก 20% เป็นขยะที่นำไปขายได้ ส่วนขยะที่เหลือจากการรีไซเคิล จะมีรถขนส่งขยะไปกำจัดด้วยการแปรรูปเป็นไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ บริษัท อัลไลแอนซ์ คลีนเพาเวอร์ จำกัด ต.โนนท่อน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ในเครือบริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) สำหรับขยะอันตรายจะมีถังรองรับขยะพิษเพื่อส่งขายให้กับบริษัทรับกำจัดขยะอันตรายต่อไป

“เทศบาลฯ มีแผนจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง แต่มองว่าการจัดการขยะที่ต้นทางจะเป็นหนทางแห่งความยั่งยืน เพราะแม้ปลายทางจะมีเทคโนโลยีหลายอย่าง แต่ก็ยังมีเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นหากจัดการต้นทางได้ดีก็จะลดปัญหาปลายทางลงด้วย” นายทัศนัย กล่าว  

ทัศนัย ประจวบมอญ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครขอนแก่น

นางสาวรัตนรัตน์ หมื่นสา ผู้จัดการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าขยะชุมชน ACE เป็นโรงไฟฟ้าเตาเผาระบบปิดที่แปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า สามารถเผาขยะที่มีความชื้นสูงได้ มีระบบฟอกอากาศ ระบบกำจัดกลิ่น และระบบบำบัดน้ำที่มีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งยังนำระบบตรวจวัดสิ่งแวดล้อมมาใช้ด้วย

รัตนรัตน์ หมื่นสา ผู้จัดการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) (ซ้าย) และพิษณุ กุลบุตร วิศวกรสิ่งแวดล้อม บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) (ขวา)

ขณะที่ นายพิษณุ กุลบุตร วิศวกรสิ่งแวดล้อม บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าจะรับขยะจากเทศบาลฯ และ อบต. เพื่อนำมาแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าแบบเผาตรงระบบปิด โดยรถขนส่งขยะจะขนขยะไปยังอาคารรับขยะมูลฝอย เพื่อเทขยะลงบ่อรับมูลฝอยซึ่งเป็นบ่อคอนกรีต สามารถรับขยะและพักเก็บขยะมูลฝอยไว้ได้ 5 –7 วัน จากนั้นจะใช้เครนคีบขยะนำเข้าเตาเผาด้วยอุณหภูมิสูง 850 – 1,050 องศาฯ ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เผาไหม้อย่างสมบูรณ์ ไม่เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถกำจัดขยะที่มีความชื้นสูงถึง 85% ได้ ส่วนความร้อนที่ได้จากเตาเผาขยะก็นำไปปั่นเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขายการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งไฟฟ้าที่ได้มีความเสถียรเทียบเท่าเชื้อเพลิงจากชีวมวลได้ นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งระบบบำบัดกำจัดมลพิษทางอากาศ ระบบบำบัดน้ำชะขยะ ระบบจัดการเถ้าหนักและเถ้าเบา เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

   

ทั้งนี้ คณะสื่อมวลชนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการฯ ยังได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลการจัดการขยะในพื้นที่ชุมชนโนนชัย 1 ซ.ราษฎร์คนึง 14 ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบการจัดการเพื่อคัดแยกก่อนทิ้งลงถังที่จะถูกส่งต่อไปกำจัดที่โรงไฟฟ้า

วสันต์ ศรีดรราช ประธานชุมชนโนนชัย 1

นายวสันต์ ศรีดรราช ประธานชุมชนโนนชัย 1 กล่าวว่า ชุมชนโนนชัย 1 เข้าร่วมโครงการชุมชนต้นแบบการจัดการปริมาณขยะ 4 ปีแล้ว โดยมีการรณรงค์คัดแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะที่นำไปขายหรือรีไซเคิล และขยะอันตราย ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการฌาปนกิจขยะ โดยให้สมาชิกนำขยะรีไซเคิลที่คัดแยกแล้วไปขายเพื่อนำเงินเข้าสู่กองทุนและคืนรายได้กลับคืนให้ชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ ส่วนขยะอินทรีย์ก็มีบริการรับจากครัวเรือน ร้านค้า ร้านอาหาร เพื่อนำไปทำน้ำหมักชีวภาพแล้วส่งกลับไปให้ใช้ประโยชน์ต่อไป ทำให้แต่ละวันชุมชนจะมีแค่ขยะทั่วไปจำนวนไม่มากที่ทิ้งลงถังขยะเพื่อส่งไปกำจัดต่อที่โรงไฟฟ้า ส่งผลให้ปริมาณขยะจากต้นทางของชุมชนลดลงเหลือเพียง 300 กิโลกรัมต่อวัน จากเดิมที่มีมากถึง 2 ตันต่อวัน

      

นอกจากนี้ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยน และเรียนรู้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดย นายวัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) แชร์บทเรียนการแก้ปัญหาขยะของเมืองบิลเบา ประเทศสเปน รวมถึงการศึกษาดูงานการจัดการขยะด้วยการผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ภายใต้กิจกรรม workshop 4 ครั้งที่ผ่านมา ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา และ ชลบุรี

วัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) (ซ้ายล่าง) , รศ.ดร.สุระชัย ชูผกา อาจารย์คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ซ้ายบน) , วิศรุต เคหะสุวรรณ เจ้าของเพจ คิดด้วยภาพ (ขวาบน) และสุมนา วิสารทสกุล วิทยากรกระบวนการด้านการมีส่วนร่วม (ขวาล่าง)

พร้อมทั้งคำแนะนำและเทคนิคการเล่าเรื่อง “Story Telling” โดย รศ.ดร.สุระชัย ชูผกา อาจารย์คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง แนะสื่อมวลชนท้องถิ่นปรับวิธีการสื่อสารให้ทันกับพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายผู้รับสารที่เปลี่ยนแปลงไปและยุคของการสื่อสารตัวตนมากขึ้น รวมทั้งเทคนิค “คิดด้วยภาพ” โดยนายวิศรุต เคหะสุวรรณ เจ้าของเพจ คิดด้วยภาพ และนางสาวสุมนา วิสารทสกุล วิทยากรกระบวนการด้านการมีส่วนร่วม ที่มาแนะนำการวางแผนผลิตชิ้นงานด้วยการทำ Story Board เพื่อให้สื่อท้องถิ่นนำไปใช้ในการผลิตคลิปวิดีโอและคอนเทนต์สำหรับสื่อออนไลน์

ขณะที่ ตัวแทนสื่อมวลชนท้องถิ่นที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า การเข้าร่วมการอบรมทำให้ได้ความรู้ใหม่ ๆ จากวิทยากร และได้รับองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีในการกำจัดขยะและโรงไฟฟ้าที่นำขยะไปแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะนำความรู้ครั้งนี้ไปสื่อสารขยายผลต่อยังชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ

ภาพกิจกรรมในโครงการ Waste Side Story ดำเนินการโดยศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97 (5) ปีงบประมาณ 2562 ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)

Advertisment