กกพ. เดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่สื่อมวลชนท้องถิ่น เพื่อร่วมขยายเครือข่ายการกำจัดขยะอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพด้วยการเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า ผ่านโครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste Side Story) ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 30 – 31 กรกฎาคม 2563 ที่จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 8 (ชลบุรี) ร่วมเปิดงาน พร้อมกันนี้ ยังนำสื่อท้องถิ่นเยี่ยมชมกระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ณ บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 6.9 เมกะวัตต์ เข้าสู่ระบบไฟฟ้าท้องถิ่น
โครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste Side Story) ดำเนินการโดยศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97 (5) ปีงบประมาณ 2562 ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งเป็นการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ให้แก่สื่อมวลชนท้องถิ่น ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 30 – 31 กรกฎาคม 2563 ณ โรงแรมแปซิฟิค พาร์ค อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีสื่อมวลชนทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์/เคเบิลทีวี และสื่อออนไลน์ รวมทั้งสมาคมผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดและสื่อภาคพลเมืองในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา จำนวนทั้งสิ้น 60 คน เข้าร่วมการอบรม
สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล ทำให้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณกากอุตสาหกรรม หรือของเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมจะเพิ่มมากขึ้นตามแนวโน้มการลงทุนด้านอุตสาหกรรม จาก 22 ล้านตันต่อปีในปัจจุบัน เป็น 25-28 ล้านตันต่อปีในปี 2565 (ข้อมูลขยะจาก กนอ.) แนวทางการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste-to-Energy) จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และสามารถตอบสนองการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมได้ในระยะยาว
ตัวอย่างหนึ่งของการกำจัดขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย ก็คือ โรงไฟฟ้าชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1 ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา มีการกำจัดขยะอุตสาหกรรมได้หลากหลายประเภท อาทิ พลาสติก กระดาษและกระดาษแข็ง สิ่งทอ เศษไม้จากบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น สามารถรองรับปริมาณขยะอุตสาหกรรมจากการฝังกลบได้ถึง 1 แสนตันต่อปี ปัจจุบันผลิตไฟฟ้า 6.9 เมกะวัตต์ป้อนเข้าสู่ระบบไฟฟ้าท้องถิ่น และยังมีระบบควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศตามมาตรฐานที่เข้มงวด
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยน และเรียนรู้กับผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมให้คำแนะนำและเทคนิคการผลิตผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบคลิปวิดีโอและคอนเทนต์สำหรับสื่อออนไลน์ในเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากขยะด้วยเทคนิค “คิดด้วยภาพ” เพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะได้อย่างน่าสนใจ พร้อมส่งต่อความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวไปสู่ชุมชนอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ กลุ่มสื่อมวลชนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการฯ ยังจะได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อประกอบการผลิตสื่อสร้างสรรค์ ณ โรงไฟฟ้าชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงในเรื่องของการกำจัดขยะ หรือกากอุตสาหกรรมที่เป็นไปตามกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมีส่วนช่วยลดปัญหาขาดแคลนพื้นที่ในการฝังกลบด้วยการนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงที่มีศักยภาพสูงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ช่วยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และสังคม ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
#wastesidestory #wastesidestorycamp #WastetoEnergy #พลังงานไฟฟ้าจากขยะ