Waste Side Story Camp ครั้งที่ 2 ชวนสื่อมวลชนท้องถิ่นภาคเหนือตอนกลาง ร่วมขับเคลื่อนแนวทางการแก้ปัญหาขยะล้นเมืองด้วยการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า พร้อมเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าจากขยะ RDF หวังสื่อมวลชนท้องถิ่นเกิดความตระหนักรู้และส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องการคัดแยกและประโยชน์ของการจัดการขยะด้วยการผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าสู่ชุมชนและสาธารณะ ด้านผู้แทนสำนักงาน กกพ. พิษณุโลก ชี้การคัดแยกขยะที่ต้นทางเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการขยะเพื่อเป็นพลังงานไฟฟ้า ระบุปัจจุบันนำร่องส่งเสริมการคัดแยกขยะแล้ว 3 ตำบล
นายเรืองชัย สงสำเภา ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 2 (พิษณุโลก) เป็นประธานเปิดโครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste Side Story) ครั้งที่ 2 จัดโดย ศูนย์ข่าวพลังาน (Energy News Center) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562 โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2563 ที่จังหวัดพิษณุโลก และมีสื่อมวลชนจากจังหวัดภาคเหนือตอนกลาง ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร และตาก รวม 60 คน โดยนายเรืองชัยยังได้บรรยายให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับฟัง ในหัวข้อ “พลังงานไฟฟ้าจากขยะและชุมชน” เพื่อชี้ให้เห็นว่าสามารถบริหารจัดการขยะและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะด้วยการคัดแยกตั้งแต่ครัวเรือน ชุมชน เทศบาล และใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า พร้อมยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่ขยะถูกคัดแยกจากบ้านนำมาทิ้งในบ่อเตรียมเข้าเตาเผา นอกจากจะกำจัดขยะด้วยการเผาแล้วยังมีผลพลอยได้เป็นพลังงานไฟฟ้า
แยกขยะ ผลิตไฟฟ้า แก้ปัญหาขยะล้นเมือง
นายเรืองชัย กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ขยะในพื้นที่ภาคเหนือตอนกลาง โดยเฉพาะจังหวัดพิษณุโลก มีขยะจำนวนมากที่รอการกำจัด ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า เขตเทศบาลเมืองพิษณุโลกมีปริมาณขยะต่อวันถึง 140 ตัน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ (Recycle) เพียง 40 ตัน ยังเหลือที่ต้องจัดการอีกราว 100 ตัน โดยขยะนำไปฝังกลบ (Landfill) ที่ อ.บางระกำ แต่ขณะนี้หลุมฝังกลบเต็มแล้ว จำเป็นต้องหาแนวทางกำจัดขยะที่เหมาะสม เช่น การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยการคัดแยกขยะที่ต้นทางเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการขยะเพื่อเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยในส่วนของจังหวัดพิษณุโลก มีการส่งเสริมและฝึกอบรมการคัดแยกขยะในระดับชุมชนแล้วเบื้องต้นใน 3 ตำบล เพื่อการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและชุมชนสามารถมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการขายขยะให้แก่โรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน
“การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่พิษณุโลกมีความเป็นไปได้ เพราะมีปริมาณขยะที่เหลือต้องกำจัดจำนวนมาก แต่ต้องเตรียมพื้นที่ที่เหมาะสม โดยปัจจุบันภาครัฐพยายามดึงภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุน แต่ส่วนตัวมองว่าภาครัฐ เช่น เทศบาล อบต. ควรเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการขยะ ขณะที่เอกชนเข้ามาร่วมบริหารจัดการเชื้อเพลิง และควรใช้พื้นที่ของรัฐตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะแทนพื้นที่เอกชน เพราะหากมีปัญหา รัฐจะสั่งปิดได้ทันที” นายเรืองชัยกล่าว
ทั้งนี้ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP2018 รัฐบาลมีเป้าหมายการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มขึ้นเป็น 900 เมกะวัตต์ จากแผนเดิม PDP2015 ที่รับซื้อ 500 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องก่อนออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะต่อไป
นอกจากการรับฟังข้อมูลจากการบรรยายแล้ว ผู้เข้าร่วมในการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ Waste Side Story Camp ครั้งที่ 2 นี้ ยังได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงขยะอัดแท่ง (Refuse Derived Fuel : RDF) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ณ บริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ต.หนองหลุม อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร
โรงไฟฟ้าขยะ RDF หนุนแยกขยะขายสร้างรายได้ให้ชุมชน
นายศุภวัฒน์ คุณวรวินิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า โรงไฟฟ้าเอวาฯ ใช้วัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรม 6 ประเภท ได้แก่ เศษกระดาษ เศษไม้ เศษผ้า เศษพลาสติก เศษหนัง เศษยาง (ยกเว้นเศษยางรถยนต์) ที่ผ่านการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF แล้ว มาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยมีกำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์ และใช้งบลงทุนรวม 800 – 900 ล้านบาท พร้อมกับให้ข้อมูลว่า การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF แตกต่างจากเชื้อเพลิงขยะชุมชน เพราะเป็นวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังไม่ผ่านการใช้งาน จึงไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น ไม่มีสารประกอบจากวัตถุอันตราย และมีค่าความร้อนสูงที่นำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยค่าความร้อนของ RDF จะอยู่ที่ 3,500 – 5,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม ปัจจุบันมีเชื้อเพลิง RDF ส่งเข้ามาที่โรงไฟฟ้าวันละ 100 ก้อน หรือ 100 ตัน (RDF ก้อนละ 1 ตัน) เมื่อเข้าสู่กระบวนการเผาแล้วจะมีของเสียที่เกิดจากการเผาไหม้คือขี้เถ้าเพียง 10 ตัน หรือประมาณ 10% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด ซึ่งถูกส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดกากอุตสาหกรรมภายนอกนิคมฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชน
นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยีการจัดการคุณภาพน้ำและอากาศ โดยเตาเผา RDF จะควบคุมอุณหภูมิความร้อนสูงถึง 850 – 1,000 องศาฯ เพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ลดปัญหาเรื่องควัน และลดการปลดปล่อยสารที่ก่อมะเร็ง และจะหยุดซ่อมบำรุงเตาเผาปีละ 3 ครั้ง เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพ ส่วนแก๊สร้อนที่ได้จากการเผาไหม้จะนำไปใช้ต้มน้ำประปาสะอาดที่ผ่านระบบกรองสิ่งสกปรกและแร่ธาตุต่าง ๆ ไม่ให้มีตะกรันหลุดเข้าไปสู่ระบบผลิตกระแสไฟฟ้า ขณะเดียวกันยังควบคุมการปล่อยมลพิษไม่ให้เกินที่กฎหมายกำหนด โดยติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่อง (CEM) บริเวณปลายปล่องหม้อไอน้ำ ซึ่งจะแสดงผลไปที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และป้ายแสดงค่าการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่บริเวณหน้าโรงไฟฟ้า
ทั้งนี้ นายศุภวัฒน์ ยอมรับว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรงไฟฟ้าขยะชุมชนหลายแห่งไม่ประสบความสำเร็จ เพราะปัญหาการไม่คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ขยะที่นำไปใช้ประโยชน์อื่นได้ปนไปกับขยะมูลฝอย ซึ่งโรงไฟฟ้าเอวาฯ จะเป็นต้นแบบให้ชุมชนได้เห็นว่าหากมีการแยกประเภทของขยะแล้ว จะสามารถเปลี่ยนขยะเป็นเงินได้จากการขายเพื่อรีไซเคิล หรือขายเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้น บริษัทฯจะขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 3 เมกะวัตต์ ในราคา 5 บาทต่อหน่วย ส่วนที่เหลืออีก 1 เมกะวัตต์ จะใช้ภายในโรงไฟฟ้า
“ชุมชนจะได้รับประโยชน์ 4 ทางจากการสร้างโรงไฟฟ้า RDF คือเงินจากกองทุนรอบโรงไฟฟ้าเพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งบริษัทฯ จ่ายสมบทอยู่ปีละ 400,00 บาท และยังเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนจากการจ้างงานคนในพื้นที่ 80% รวมทั้งเงินภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย และภาษีที่ดิน ที่จ่ายให้แก่ อบต. และท้องถิ่น นำไปใช้ในการพัฒนาชุมชน และบริษัทยังตั้งใจที่จะให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชนและชุมชน โดยจะเน้นการบริหารจัดการขยะ และมองว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ไทยจะเจอวิกฤตปัญหาขยะหากไม่เร่งบริหารจัดการ เพราะบ่อขยะหรือหลุมฝังกลบเริ่มเต็มแล้ว“ นายศุภวัฒน์ กล่าว
ปัจจุบันในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงาน กกพ. ประจำเขต 2 (พิษณุโลก) มีผู้ได้รับอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากขยะ จำนวน 4 ราย รวมกำลังการผลิต 16.90 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 2 ราย ได้แก่ บริษัท ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี่ 6 จำกัด จังหวัดพิจิตร กำลังผลิต 9.90 เมกะวัตต์ และบริษัท โรงไฟฟ้าแม่สอด จำกัด จังหวัดตาก กำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 2 ราย เป็นโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท ศแบงยั่งยืน พิจิตร จำกัด จังหวัดพิจิตร 2 เมกะวัตต์ และบริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จังหวัดพิจิตร 4 เมกะวัตต์
สื่อสารเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากขยะอย่างเข้าใจ
สำหรับกิจกรรม Waste Side Story Camp ครั้งที่ 2 นอกจากการรับฟังข้อมูลและเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าจากขยะแล้ว ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และวิทยากรด้านการมีส่วนร่วม เข้าร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้กับผู้เข้าร่วมประชุม โดย นายวัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) ได้แชร์ประสบการณ์ศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่เมืองบิลเบา ประเทศสเปน ซึ่งเคยมีปัญหาขยะขั้นวิกฤต จนรัฐบาลเมื่อ 20 ปีก่อนตัดสินใจว่าควรมีเทคโนโลยีเข้ามาจัดการขยะโดยเริ่มจากการสร้างความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะ และบังคับใช้กฎหมายคัดแยกขยะอย่างจริงจัง พร้อมแบ่งปันมุมมองว่าหากสื่อมวลชนท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจถึงการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าขยะ จะสามารถตั้งรับและพิจารณาประเด็นนี้ และสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องอย่างรอบด้านไปยังชุมชนในพื้นที่ของตนได้
ขณะที่ รศ.ดร.สุระชัย ชูผกา อาจารย์คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง แชร์เทคนิคการเล่าเรื่อง (Story Telling) อย่างน่าสนใจ เริ่มด้วยการมีชุดข้อมูลความรู้แล้ววางแผนเล่าเรื่องอย่างเป็นขั้นตอน ผนวกกับการใช้จินตนาการสร้างสรรค์เนื้อหา พร้อมแนะสื่อท้องถิ่นไม่ควรยึดติดรูปแบบเดิมในการรายงานข่าว แต่สามารถถ่ายทอดเรื่องเล่าบนพื้นฐานของความเป็นจริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง และมองว่าคนมีแนวโน้มที่จะเชื่อสื่อท้องถิ่นมากขึ้นเพราะสัมผัสกับข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่ นอกจากนั้น สื่อมวลชนที่เข้าร่วมประชุม ยังได้ร่วมกันฝึกเทคนิคคิดด้วยภาพ โดย นายวิศรุต เคหะสุวรรณ วิทยากร เจ้าของเพจ คิดด้วยภาพ ซึ่งสอนเทคนิควิธีการเล่าเรื่องผ่านการคิดออกมาเป็นภาพ เพื่อนำไปใช้ผลิตสื่อวิดีโอและสื่อออนไลน์ อย่างมีประสิทธิภาพ
หลังจากนั้น นางสาวสุมนา วิสารทสกุล วิทยากรกระบวนการด้านการมีส่วนร่วม แนะนำวิธีคิดและดึงพลังความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของสื่อมวลชนท้องถิ่น ระดมสมองคิดผลิตผลงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งสื่อมวลชนต่างได้รับความรู้และเทคนิควิธีต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาการนำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพ ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่ต้องการส่งเสริมให้สื่อมวลชนท้องถิ่นเกิดความตระหนักรู้และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจากขยะ และมีส่วนร่วมในการขยายผลความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นและสาธารณะต่อไป