ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ยึดมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2564 ที่ผ่านมา ทวงถามโควต้าโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 1,700 เมกะวัตต์ จากกระทรวงพลังงาน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการพัฒนาโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่ จ.สงขลา ในขณะที่ฝั่งกระทรวงพลังงาน ยังเดินหน้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับล่าสุด หรือ PDP2018 rev 1 ที่จะมีโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี 2 แห่ง เสริมความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ทาง TPIPP ได้ออกเอกสารข่าวระบุถึงความคืบหน้า โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่ จ.สงขลา ว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) อันมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่รองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้รับมอบอำนาจทำการแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของแผนงานทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ Strategic Environmental Assessment (SEA) มีมติเห็นชอบกับโครงการของ TPIPP และเสนอให้ ครม.มีมติรับทราบ แล้วเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นมติ ครม.เห็นชอบกับโครงการตามแผน/แผนงาน/นโยบายสามเหลี่ยมมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนของ กพต.
นอกจากนี้ กพต. ยังได้มีมติเร่งรัดให้กรมโยธาธิการทำการเปลี่ยนพื้นที่สีเขียวเป็นสีม่วง ให้กระทรวงพลังงาน กกพ. และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจัดการทำ PPA ให้เสร็จ ภายในเดือนมีนาคม 2564
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2564 ที่ผ่านมา ได้มีมติรับทราบตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอผลสรุปการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2563 มาตรา 7 (6) ที่บัญญัติให้ กพต. มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อคณะรัฐมนตรี
โดย กพต. รายงานความคืบหน้าการดำเนินการจัดสรรโควตาพลังงานไฟฟ้า 1,700 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการพัฒนาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ว่า กระทรวงพลังงาน (พน.) จะได้มีการกำหนดการประชุมคณะทำงานพิจารณากรอบแนวทางการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหารือรายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นการจัดสรรโควตาพลังงานไฟฟ้าให้มีความชัดเจนต่อไป
อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การจัดสรรโควต้าการผลิตไฟฟ้าให้กับเอกชน จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผน PDP ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพลังงาน ยังคงเดินหน้าตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ คณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบไปเมื่อเดือน ต.ค.2563 ที่ผ่านมา ซึ่ง PDP ฉบับดังกล่าว ในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เพื่อเสริมความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้ กำหนดให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฏร์ธานี ชุดที่ 1 ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิง ขนาด 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบในปี 2570 และ ชุดที่ 2 อีก 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบในปี 2572 จึงยังถือว่า มติ ของ กพต. ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ
ทั้งนี้การพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ในส่วนของ ศอบต.นั้น ยังถือว่ามีความไม่ชัดเจนในเรื่องของความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น จากโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ว่าจะมีเอกชนเข้ามาลงทุนมากน้อยแค่ไหน ต้องการใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ และทำไมจึงต้องให้ กระทรวงพลังงานอนุมัติโควต้าให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้าจำนวน 1,700 เมกะวัตต์ รวมทั้งโครงการยังมีกระแสคัดค้านจากภาคประชาชนในพื้นที่ ที่ยังไม่มีข้อยุติ
อีกทั้งคณะทำงานพิจารณากรอบแนวทางการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ยังไม่ได้มีการนัดหมายประชุม จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ กฟผ.ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชน ภายในเดือน มี.ค.2564 นี้