ความสำเร็จจากการทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากเรื่องพลังงานแตกแขนงต่อไปสู่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคที่เกี่ยวเนื่องและธุรกิจดิจิทัล ของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ Gulf ที่มี " สารัชถ์ รัตนาวะดี " ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นผู้ถือธงนำ ซึ่งวัดได้จากมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การลงทุนสร้างสนามกอล์ฟ Stonehill ซึ่งเป็นกีฬาที่คุณสารัชถ์ ชื่นชอบหลงใหล ภายใต้บริษัท สโตนฮิลล์ เอสเตท ที่ตัวเขานั่งเป็นประธานบริษัทและมี " สาริศ รัตนาวะดี " ลูกชายคนโต เป็นกรรมการบริหารถูกมองว่าเป็น passion investment ที่ตั้งใจไปให้สุด ตั้งแต่การเลือกทำเลที่ตั้ง ผู้ออกแบบสนามและคลับเฮาส์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้เป็นสนามกอล์ฟที่ได้มาตรฐานระดับโลกในแทบทุกตารางเมตร มีความโดดเด่นที่แตกต่างจากสนามกอล์ฟอื่นๆ ที่รองรับและดึงดูดทัวร์นาเมนท์สำคัญระดับโลกได้
ในวันที่เปิดตัว Stonehill อย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา มีเพื่อนพ้องในวงการธุรกิจและแวดวงราชการที่มีชื่อเสียง เป็นรู้จักกันดีในวงสังคม มาร่วมแสดงความยินดีกันอย่างอบอุ่น อาทิ คุณชาติศิริ โสภณพนิช คุณคีรี กาญจนพาสน์ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ สะท้อนถึงการตอบรับและสนับสนุนการเกิดขึ้นของสนามกอล์ฟแห่งนี้
Stonehill เป็นสนามกอล์ฟมาตรฐาน 18 หลุม ตั้งอยู่บนพื้นที่กว้างใหญ่ขนาด 950 ไร่ ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาในตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ออกแบบโดยนักออกแบบสนามกอล์ฟชั้นนำของโลกที่มีความหลงใหลในกีฬากอล์ฟ คือ Kyle Phillips ที่ทำงานสอดประสานกันกับ Timothy Slattery สถาปนิกชื่อดังจากบริษัท Hart Howerton ที่มาช่วยออกแบบคลับเฮ้าส์ให้เชื่อมโยงถึงกัน โดยยังมีการจัดแบ่งพื้นที่เพื่อรองรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการอย่างหลากหลาย ทั้งที่พัก ร้านอาหาร Ubuntu และ Rock Cheek รวมทั้งบาร์ Firefly ที่แต่ละร้านจะมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว พร้อมเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ด้านกีฬาและการท่องเที่ยวของประเทศ
โดยล่าสุด Stonehill จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งทาง ศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC ) ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานด้วยนั้น ได้ประกาศถึงความพร้อมของสนาม สิ่งอำนวยความสะดวก และมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยในทุกด้าน ที่จะรองรับจัดการแข่งขันทัวร์นาเมนท์สำคัญระดับโลก อย่าง “ LIV Golf Inviational Bangkok “ ที่มีผู้สนับสนุนคือ กองทุนPIF ของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม ที่จะถึงนี้
งานแถลงข่าว Stonehill มีคุณสารัชถ์ มาเล่าให้สื่อมวลชนที่ร่วมงานฟังด้วยตัวเอง ถึงความเป็นมาของสนามกอล์ฟแห่งนี้ว่า ตั้งใจลงทุนทำอย่างดีที่สุดเพื่อให้รองรับการแข่งขันทัวร์นาเม้นท์สำคัญระดับโลกได้ เหมือนที่เมืองต่างๆในต่างประเทศมีสนามกอล์ฟที่ได้มาตรฐาน เป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองนั้นๆ
โซนปทุมธานี ทำเลที่ถูกเลือกสร้างสนามกอล์ฟ
ดังนั้นการเลือกสถานที่เพื่อสร้างสนามกอล์ฟจึงต้องไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก โดยมีการไปตระเวนดูพื้นที่หลายแปลงบนถนนสายบางนา-ตราด แต่ก็ยังไม่ถูกใจเพราะเป็นโซนที่มีสนามกอล์ฟสร้างอยู่ก่อนแล้วหลายสนาม แถมตามเส้นทางยังแวดล้อมไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้การจราจรติดขัด คนที่ชอบเล่นกอล์ฟซึ่งอยากจะอยู่สัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติจะไม่ชอบเงื่อนไขเหล่านี้ อีกทั้งยังมีปัญหาน้ำกร่อย และขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการทำสนามกอล์ฟ
ในขณะที่โซนฝั่งรังสิตคลอง 6 นั้นก็มีปัญหาการจราจรติดขัดเช่นเดียวกันและ ไม่มีทางด่วนไปลงใกล้ๆ ดังนั้นการขับรถไป-กลับเพื่อไปตีกอล์ฟที่ใช้เวลานานเกินไป อาจจะเกิดอาการง่วงนอนได้ ซึ่งโดยส่วนตัวคุณสารัชถ์ เอง เวลาที่มีใครชวนไปตีกอล์ฟโซนดังกล่าว ก็แทบจะบอกปฏิเสธไปทั้งหมดเพราะไม่อยากจะไปให้เสียเวลา
การเลือกที่ดินเพื่อสร้างสนามกอล์ฟสโตนฮิลล์จึงมาลงเอยที่โซนฝั่ง ปทุมธานี ไม่ไกลจากทางด่วนที่วิ่งลงตรงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชียงรากน้อย ไม่มีแยกไฟแดง จึงง่ายต่อการตัดสินใจสำหรับผู้ที่อยากจะมาเล่นกอล์ฟ หรือเวลาที่มีทัวร์นาเม้นท์ใหญ่ๆที่จัดแข่งขันก็สามารถรองรับปริมาณการจราจรจำนวนมากได้
โดยที่ดินที่ คุณสารัชถ์ ตัดสินใจซื้อเมื่อ 4-5 ปีก่อนนั้นเดิมเป็นทุ่งนาว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยแต่อยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยรั้วของสนามนั้นเกือบติดกับแม่น้ำ มีถนนสาธารณะกั้น พร้อมทำแนวดินเป็นแนวสูง 3-4 เมตร ซึ่งมั่นใจว่าไม่เกิดปัญหาน้ำท่วม และอีกปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการทำสนามกอล์ฟคือคุณภาพน้ำที่ดีมากจากแม่น้ำเจ้าพระยา ดีกว่าน้ำจากใต้ดินสำหรับการนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆในสนามได้อย่างเต็มที่
Kyle Phillips ถูกเลือกเพราะมี Passion มากที่สุดในการออกแบบสนามกอล์ฟ
สำหรับการเลือกคนที่จะมาออกแบบสนามกอล์ฟนั้น ทางคุณสารัชถ์ มีการเลือกคุยกับนักออกแบบ 3-4 คน ทั้งชาวต่างประเทศและคนไทยที่เคยมีประสบการณ์การออกแบบสนามกอล์ฟที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง และที่ตัดสินใจเลือก ไคล์ ฟิลลิปส์ นักออกแบบชาวอเมริกัน ที่มีชื่อเสียงมากในโลกคนหนึ่ง หลังจากที่เชิญมาดูพื้นที่จริงที่จะสร้างสนามกอล์ฟ ก็เพราะเป็นคนที่มีpassion มากที่สุดในการออกแบบสนามกอล์ฟในบรรดาตัวเลือกทั้งหมด อีกทั้งแคลิฟอร์เนีย ที่ ไคล์ ฟิลลิปส์ มีประสบการณ์การออกแบบสนามกอล์ฟที่นั่น มีสภาพภูมิอากาศ สภาพดิน ต้นหญ้า หรือต้นไม้ที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย จึงน่าจะมีความเข้าใจในการออกแบบสนามที่สโตนฮิลล์มากกว่าเมื่อเทียบกับนักออกแบบอีกคนที่มาจากนิวยอร์ค
การเริ่มต้นออกแบบสนามกอล์ฟนั้น ก็มีการดูว่าจะมีการขุดเคลื่อนย้ายดินอย่างไรให้มีความสูงที่แตกต่างกันตามต้องการ โดยสนามกอล์ฟแห่งนี้ มีการเคลื่อนย้ายดินจำนวนมากถึง 3 ล้านคิว ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งชื่อสนามแห่งนี้ ว่า ” Stonehill “
เคลื่อนย้ายดิน เปลี่ยนทุ่งนาเป็นสนามกอล์ฟ สร้างความต่างระดับได้ถึง 14 เมตร
จากสภาพเดิมของพื้นที่ที่เป็นทุ่งนาปกติ ก็สามารถเคลื่อนย้ายดินตามความสามารถที่มนุษย์จะมีเครื่องมือทำได้ ( man made )ให้เกิดความลาดชันที่มีความแตกต่างของระดับพื้นที่จากจุดสูงสุดกับต่ำสุดได้ประมาณ 14 เมตร จึงทำให้สนามดูกลมกลืนเป็นธรรมชาติกับพื้นที่โดยรอบ
ออกแบบให้สนามและคลับเฮาส์สื่อสารความรู้สึกถึงกัน
และเพื่อให้การออกแบบสนามกอล์ฟและคลับเฮ้าส์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญสำหรับคนเล่นกอล์ฟ หรือคนที่จะมานั่งคอยได้รู้สึกถึงความสะดวกสบาย สงบ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสนาม ไคล์ ฟิลลิปส์ จึงเลือกคนที่เคยทำงานด้วยกันมาจากแคลิฟอร์เนียด้วย คือ ทิโมตี้ สแลทเทอรี่ สถาปนิกชื่อดังจากบริษัท Hart Howerton เพื่อที่ตัวเขาจะสามารถดึงเอาความรู้สึกของการออกแบบสนามกอล์ฟและสื่อสารออกมาให้เข้าใจตรงกันได้ จึงทำให้งานออกแบบสนามกอล์ฟและการออกแบบคลับเฮ้าส์ นั้นเริ่มต้นไปด้วยกันได้ดี มีความเชื่อมโยงกัน
โดยคลับเฮาส์นั้นภายนอกตกแต่งด้วยหินแกรนิตนำเข้าจากอิตาลี ซึ่งคุณสารัชถ์บอกว่า การใช้หินแกรนิตยิ่งเวลาผ่านไปนานก็ยิ่งดูดีขึ้น ต่างจากการทาสี ที่พอผ่านไป3-4 ปีก็ดูเก่า ทรุดโทรม ต้องทาสีทับใหม่ไปเรื่อยๆ
ออกแบบการใช้ประโยชน์เต็มพื้นที่ เพื่อเป็น Modern Golf Course
การก่อสร้างสนามกอล์ฟสโตนฮิลล์นั้นใช้เวลา 4-5 ปี จากที่คุณสารัชถ์ ตั้งใจไว้ในตอนแรกว่าอยากจะเร่งสร้างให้เสร็จภายใน 1 ปี โดยเหตุผลที่ต้องใช้เวลานานขึ้นก็เพราะมีพื้นที่ถึง 950 ไร่ ซึ่งใหญ่กว่าสนามกอล์ฟทั่วไปที่มีขนาดประมาณ 300-400 ไร่ ดังนั้นคุณสารัชถ์ จึงต้องการให้สถาปนิกมีอิสระในการออกแบบสนามและพื้นที่ใช้สอยต่างๆได้เต็มพื้นที่ โดยไม่ต้องไปสนใจว่าจะต้องประหยัดพื้นที่
ความยากในการออกแบบสนามกอล์ฟสโตนฮิลล์นั้นอยู่ที่การทำให้เกิดความลาดชัน(slope)ที่แตกต่างกัน และความยาวของแต่ละหลุมที่รวมแล้ว ประมาณ 7,800 หลา ซึ่งยาวกว่าสนามทั่วๆไป สอดคล้องกับพัฒนาการของนักกีฬากอล์ฟสมัยใหม่ ที่ตีได้ไกลขึ้น สโตนฮิลล์ จึงเรียกได้ว่า เป็นสนามกอล์ฟที่มีความทันสมัย หรือ Modern Golf Course ที่ปรับเปลี่ยนได้ตามอุปกรณ์ ตามความสามารถของนักกอล์ฟเหมือนร้านอาหาร ก็มีร้านอาหารสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
หลุม 17 พาร์ 5 คือ Signature Hole และโลโก้ Stonehill
ส่วนการปูหญ้าในสนามกอล์ฟสโตนฮิลล์ มีความละเอียดมาก โดยใช้หญ้านวลน้อยพันธุ์พิเศษต่างชนิดกันทั้งส่วนของทีออฟ ที่มีความเรียบเตียน ส่วนแฟร์เวย์ เป็นนวลน้อยอีกชนิด ชื่อคีออน ซึ่งน่าจะเป็นสนามกอล์ฟแห่งแรกในประเทศ ที่เล่นแบบ hard and fast ได้ โดยเมื่อตีลูกกอล์ฟตกลงไปแล้วจะไม่หยุดอยู่กับที่ แต่จะวิ่งต่อไปข้างหน้าทำให้ได้ระยะที่ไกลขึ้น และบนกรีน หญ้าก็จะเตียน เวลาพัตต์จะเร็ว มีความยากในการพัตต์ ส่วนระยะของการเล่นในแต่ละหลุมนั้น มีแท่นปักที 4 ระดับที่แตกต่างกัน ให้เลือกเล่นได้ตั้งแต่มือสมัครเล่นจนถึงโปรกอล์ฟมืออาชีพในการแข่งขัน
สำหรับหลุมที่ถือเป็น Signature Hole ของสนามคือหลุม 17 พาร์ 5 มีต้นจามจุรีใหญ่ฟอร์มสวยอยู่ข้างแฟรเวย์ ต้องตีข้ามน้ำไปถึงกรีน ซึ่งมองจากกรีนไปยังคลับเฮาส์ ก็จะดูเหมือน โลโก้ของสโตนฮิลล์
Stonehill สุดยอดสนามกอล์ฟที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของผู้ก่อตั้ง ผู้สร้าง และผู้มาเยือน ที่รอการพิสูจน์
โดยประสบการณ์ที่เคยจัดการแข่งขันทัวร์นาเมนท์แชมป์เปี้ยนชิฟต่างๆมา นักกอล์ฟจากต่างประเทศ ที่เป็นคนมีชื่อเสียง ก็เหมือนเป็นเซเลบริตี้ เข้ามาแข่งที่เมืองไทย ก็ช่วยให้เมืองไทยมีความมั่นคง น่าลงทุน น่าท่องเที่ยวขึ้น เมื่อสโตนฮิลล์ เสร็จสมบูรณ์ พร้อมทุกอย่าง ก็มีการวางแผนจะดึงการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ที่สำคัญมาแข่ง ชื่อเสียงของนักกอล์ฟสอดคล้องกับคุณภาพของสนาม ตัวอย่างเช่นรายการ ลิฟ กอล์ฟ อินวิเตชั่นแนล ที่เป็นรายการแรกที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7-9 ตุลาคมนี้ ก็มีนักกอล์ฟชื่อดังระดับโลกหลายคนจะมาร่วมรายการ
ในประเด็นที่ถูกสื่อตั้งคำถามว่า สนามกอล์ฟสโตนฮิลล์ นั้นเป็น passion investment หรือไม่ คุณสารัชถ์ ตอบว่า “สนามกอล์ฟเป็นสิ่งที่ทำออกมาแล้วมันดีกับวงการกอล์ฟ ดีกับวงการกีฬา ดีกับสังคม ถ้าสามารถทำfacility (สิ่งอำนวยความสะดวก)ให้มันดีได้ ในสนามกอล์ฟที่มีอยู่หลายๆสนามในประเทศ เราพยายามที่จะทำให้มีความแตกต่างออกมาในทางที่ดี นี่คือความตั้งใจ อย่างโมโตจีพี ก็ต้องหาสนามแข่งที่มีความพร้อมที่จะรองรับการจัดการแข่งขันได้ ฟุตบอลก็ต้องหาสนามที่แมทซ์กับการแข่งขัน เพราะฉะนั้น สนามกอล์ฟเองก็ต้องมีสนามที่เล่นเพื่อความเพลิดเพลินสบายใจ หรือสนามที่ทำขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการรองรับการแข่งขัน หรือเพื่อความสนุกของการเล่นกีฬา “
สนามกอลฟ์สโตนฮิลล์ ยังไม่ได้เริ่มขายให้สมาชิกที่จะเข้ามาใช้บริการ โดยคุณสารัชถ์ ตั้งเป้าไว้ว่า จะมีสมาชิกในระดับหนึ่งที่เน้นคุณภาพไม่ได้เน้นปริมาณว่าจะต้องมีเยอะ เพื่อมาพบปะสังสรรค์ เล่นกีฬากันเหมือนเมมเบอร์คลับทั่วไป
คำนิยามที่บอกว่าเป็น ” สุดยอดสนามกอล์ฟที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของผู้ก่อตั้ง ผู้สร้าง และผู้มาเยือน “ จึงรอการพิสูจน์จากผู้หลงใหลกีฬากอล์ฟจากทั่วทุกมุมโลก