ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กประเภท Firm ระบบ cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2562-2568 ส่วนใหญ่รักษาสิทธิในการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ระหว่างวันที่ 13 พ.ค.-22 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ในปริมาณที่มากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ และไม่เกิน 30% ของกำลังผลิตสุทธิ (Net Generation) ไฟฟ้ารวมไอน้ำ ตามประกาศของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ กกพ.ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ประเภท Firm ระบบ cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2562-2568 (ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่) เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2559 โดยกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กยื่นเสนอขายไฟฟ้าต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ตั้งแต่ 13 พ.ค. -22 พ.ค. 2562 นั้น ปรากฏว่า ผู้ประกอบการ SPP Cogeneration ส่วนใหญ่ต่างรักษาสิทธิของตัวเอง โดยการยื่นเสนอขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ซึ่งในขั้นตอนต่อไป ทาง กฟผ.จะใช้เวลาตรวจสอบเอกสารระหว่าง 23 พ.ค.-24 มิ.ย. 2562 และกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กส่งเอกสารเพิ่มเติมได้ระหว่างวันที่ 25 มิ.ย.-5 ก.ค. 2562 ซึ่งในวันที่ 30 ส.ค. 2562 กฟผ.จะมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณากับทาง กกพ.และผู้เสนอผลิตไฟฟ้ารายเล็กต่อไป
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า สำหรับสาระสำคัญในประกาศของกกพ. ที่ลงนามโดยนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) นั้นกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญ ให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กต้องเสนอขายไฟฟ้าในปริมาณที่มากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ และไม่เกิน 30% ของกำลังผลิตสุทธิ (Net Generation) ไฟฟ้ารวมไอน้ำ อีกทั้ง ไฟฟ้าที่เสนอขายจะต้องไม่เกินกว่าปริมาณไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดิม
โดย กกพ. กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ให้เป็นวันถัดจากวันครบอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดิม ยกเว้นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดิมรายใด หมดอายุสัญญาภายในปี 2562-2564 ผู้ยื่นผลิตไฟฟ้ารายเล็กสามารถเสนอวัน SCOD หลังหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดิมได้ แต่ทั้งนี้วัน SCOD ต้องอยู่ภายในปี 2565
สำหรับรายชื่อกลุ่ม SPP Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2562–2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 25 ราย ตามเอกสารด้านล่างนี้
รายชื่อ SPP Cogeneration ทั้ง 25 ราย
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานเพิ่มเติมว่า มี SPP Cogeneration จำนวน 22 รายที่เสนอเสนอขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ต่อ โดยเป็นกลุ่มของ โกลว์ เอสพีพี มากที่สุด 9 โครงการ ในขณะที่กลุ่มเอกโก้ แจ้งว่าบริษัทในกลุ่ม จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท หนองแค โคเจนเนอเรชั่น จำกัด บริษัท สมุทรปราการ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด และ บริษัท กัลฟ์ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (ซื้อกิจการมาจากกลุ่มกัลฟ์ – หมายเหตุโดย ENC) ไม่ได้ยื่น โดยคงมีเพียงบริษัท เอ็กโก้ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ที่ยื่นขายไฟให้ กฟผ. ดังกล่าว
ทั้งนี้ ปริมาณไฟฟ้าส่วนเกินของกำลังการผลิตที่เหลือจากขายให้ กฟผ. นั้น ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อจัดตั้งตลาดการซื้อขายไฟฟ้าเสรี เพื่อให้กลุ่ม SPP Cogeneration ดังกล่าว มีช่องทางใหม่ที่จะแข่งขันกันขายไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะนำร่องที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)