ผู้ประกอบการ SPP ชีวมวล รอนานกว่า1ปี ให้กระทรวงพลังงาน ชงเรื่องขอเปลี่ยนใช้ระบบ “ผลิตไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง(FiT)” เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) 19 ธ.ค. 2561 นี้ระบุหากล่าช้ากว่านี้จะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องทยอยปิดกิจการ หลังนโยบายไม่เป็นธรรมจนไม่สามารถแข่งขันซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลผลิตไฟฟ้ากับผู้ประกอบการรายเล็กมาก(VSPP) ได้
นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP)ชีวมวล เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการ SPP ชีวมวลกว่า 30 ราย ยังคงรอให้กระทรวงพลังงานนำเรื่อง ผู้ประกอบการ SPP ชีวมวล ขอใช้ระบบ “การให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง(FiT)” เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ในรอบวันที่ 19 ธ.ค. 2561 นี้ โดยหากยังล่าช้าออกไปจะส่งผลให้ผู้ประกอบการ SPP ชีวมวลกว่า 10 ราย ต้องประสบปัญหาทางการเงินจนอาจต้องทยอยปิดกิจการลงไป
ทั้งนี้กระทรวงพลังงานใช้เวลานานกว่า 1 ปีในการเตรียมแก้ปัญหานโยบายความเหลื่อมล้ำทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ SPP กับผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก(VSPP)ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล จนปัจจุบันส่งผลให้ผู้ประกอบการSPPชีวมวลกว่า 10 ราย ต้องยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้กับทางธนาคารแล้ว
สำหรับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางนโยบายที่เกิดขึ้นเนื่องจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของ SPP ชีวมวล เป็นแบบสัญญาเสถียร(Firm)ที่ต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง แต่ได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ประมาณ 2.80 บาทต่อหน่วย ขณะที่กลุ่มVSPP ชีวมวล เป็นสัญญาไม่เสถียร(Non-Firm) หรือขายเมื่อผลิตได้ โดยได้รับอัตราซื้อไฟฟ้า 3.66 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้กลุ่ม SPP ไม่สามารถแข่งขันซื้อเชื้อเพลิงกับกลุ่ม VSPP ได้เพราะต้นทุนสูงกว่า และจำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ถูกเรียกเก็บค่าปรับตามสัญญา
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)เมื่อ วันที่ 5 ก.ย. 2560 หรือกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้ SPP ชีวมวลมาใช้ระบบ FiT ได้แบบมีเงื่อนไข แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กพช. ก่อน แต่ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานยังไม่เคยนำเข้าไปเสนอให้ กพช. พิจารณา ทำให้ SPP ยังไม่สามารถปรับมาใช้ระบบ FiT และยังคงต้องใช้สัญญาที่ซื้อขายไฟฟ้าตามการอ้างอิงราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่อไป จึงเกิดความไม่เป็นธรรมในธุรกิจผลิตไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าว
ทั้งนี้ยืนยันว่าการเปลี่ยนให้ SPP ชีวมวลใช้ระบบ FiT จะไม่กระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าประชาชน เนื่องจาก SPP ชีวมวลรวมกำลังผลิตเพียง 350 เมกะวัตต์เท่านั้น เมื่อปรับเป็นระบบ FiT จะได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่เกิน 20 ปี โดยต้องหักจำนวนปีที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบไปก่อนหน้านี้ด้วย และรวมปริมาณเงินรับซื้อไฟฟ้าจะไม่เกินไปกว่าสัญญาเดิม จึงไม่มีผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าของประชาชน
นายนที กล่าวว่า หากกระทรวงพลังงานไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของ กพช.ในครั้งนี้ ทางผู้ประกอบการจะต้องสอบถามถึงเหตุผลที่แท้จริง เนื่องจากกระทรวงพลังงานใช้เวลานานกว่า 1 ปีในการดำเนินการแล้ว และหากใช้เวลานานกว่าผู้ประกอบการ SPP จะไม่สามารถอยู่รอดในการทำธุรกิจได้อีก